ห้างฉัตรวิทยาร่วมมือกับไร่เยาวรัตน์ ปั้นเด็กเริ่มอาชีพได้ด้วยตัวเอง

“อยากให้เด็กทำธุรกิจเป็น และไม่ต้องทำใหญ่ เริ่มจากตัวเอง จากที่บ้าน แล้วค่อยโต ไม่ใช่กู้เงิน 5 ล้าน 10 ล้าน มาทำโดยไม่มีความรู้” คุณครูนันท์นภัส ไสยาทา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา จ.ลำปาง เล่าถึงภาพฝันประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน เมื่อโรงเรียนร่วมมือกับไร่เยาวรัตน์และร้อยพลังการศึกษาใน “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน หรือ Community Engagement (CE)”


ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ร้อยพลังการศึกษาได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นหลายแห่ง ชวนคุณครูนันท์นภัสและคณะครูไปพูดคุยกับหน่วยงานเหล่านั้นเพื่อหาโอกาสที่จะพัฒนานักเรียนร่วมกัน นำมาสู่ความร่วมมือกับไร่เยาวรัตน์ เนื่องจากโรงเรียนมองว่าที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติทักษะเกษตรกรยุคใหม่ เด็กที่ไม่เก่งด้านวิชาการก็เรียนได้ เป็นวิถีเกษตรที่ไม่กว้างหรือแคบไป ได้เรียนรู้ตั้งแต่การแก้ปัญหาดิน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงแปรรูป และการทำตลาด ทั้งยังได้เรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกหรือโซล่าร์เซลล์ โรงเรียนจึงมาวางแผนการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งเป็นชุมนุม Smart Farming จัดสถานที่เรียน หาอุปกรณ์ คิดวิธีดูแลโรงเรือน เป็นต้น

มาวันนี้ “ศูนย์การเรียนรู้ Smart Farming ฟาร์มเห็ดอัจฉริยะและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” กำลังกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะประสบการณ์ให้เด็ก ๆ รู้จักหารายได้เสริม “อยู่ชุมนุมนี้ ต้องเอาเห็ดไปขายค่ะ บางทีก็ไปเติมน้ำรดเห็ด” น้องปราณปริยา หรือน้องแก้ม นักเรียนชั้น ม.4 เล่า ขณะที่น้องวรวิทย์ หรือน้องตู๋ นักเรียน ชั้น ม.3 บอกว่า เลือกอยู่ชุมนุมนี้เพราะเห็นว่าน่าสนใจ ได้ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ และอยากลองหาเงิน ซึ่งตู๋เองมีหน้าที่คอยช่วยเติมน้ำลงเห็ด เก็บเห็ด และบางวันก็ช่วยนำเห็ดไปขายด้วย


คุณนพดล สันเทพ ปราชญ์ชาวบ้านจากไร่เยาวรัตน์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ปีที่ผ่านมาเขาเริ่มเห็นผล เห็นความคืบหน้า ทำให้มีแนวคิดว่าในภาคเรียนต่อไป อยากทำให้เด็ก ๆ เห็นชัดเจนมากขึ้น เช่น ถ้าห้องพักครู ไม่ใช้ไฟเลย แต่ใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ จะลดค่าใช้ค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ เพื่อให้เด็กเห็นแล้วลองเอาไปทำที่บ้าน ไปติดตั้ง รับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรายได้ได้ ขณะที่ฟาร์มเห็ด เขาอยากเพิ่มแปลงเกษตรที่ปลูกคะน้า ผักชี ต้นหอมด้วย ให้เด็ก ๆ ขายผัก ขายเห็ด ให้กับโรงครัวของโรงเรียน เด็ก ๆ จะได้มีกำลังใจ กระตือรือร้นที่จะสร้างรายได้ นำความรู้ไปแนะนำพ่อแม่เรื่องต้นทุน ปุ๋ยอินทรีย์ได้ “บางคนบ้านไม่มีพื้นที่ แต่อยากปลูกผัก ปลูกเห็ด” คุณนพดลกล่าว

ประโยชน์ที่ปราชญ์ชาวบ้านอย่างคุณนพดลคาดหวังให้เด็ก ๆ ได้รับจากชุมนุมนี้สอดคล้องกับคุณครูธนโชติ วงค์ดวง ครูผู้ดูแลชุมนุม Smart Farming กล่าวว่า “อย่างเรื่องโซล่าเซลล์ ปัจจุบันราคาวัสดุ การเลือกซื้อ สามารถซื้อมาทำได้ง่าย บางบ้านหรืออาจจะเป็นที่ไร่ ที่สวน ไม่มีไฟฟ้า ถ้านักเรียนมีความรู้ตรงนี้อาจจะเอาไปทำในชุมชนได้ ให้เห็นว่าเราที่เรียนไม่เก่ง เกรด 1 กว่า 2 กว่า ก็สามารถเอาความรู้ด้านโซลาเซลล์นี้ไปต่อยอดในชุมชนได้ สร้างคุณค่าในตัวของเขาเอง จากพฤติกรรมที่เกเรก็อาจนำเขากลับมาสู่การเป็นพลเมืองที่ดี”

นอกจากความรู้ด้านเกษตรที่เด็ก ๆ ได้รับแล้ว คุณครูธนโชติกล่าวว่าชุมนุมนี้ยังช่วยให้เด็กเห็นภาพ เห็นบริบทในการประกอบอาชีพมากขึ้น ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกกระบวนการทำงาน เพราะเด็ก ๆ จะได้รับมอบหมายหน้าที่ที่ต้องดูแลเป็นประจำ และยังได้ลองหาเงินด้วยตัวเอง
ในส่วนของการจัดการเรียนการสอน คุณนพดลเล่าว่า ปกติที่ไร่เยาวรัตน์มีนักเรียนจากโรงเรียนอื่น ๆ มาทำกิจกรรมเรื่อย ๆ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่เมื่อร่วมมือกับโรงเรียนห้างฉัตรฯ เปิดรับเด็กที่อยากเรียนรู้เรื่องนี้จริง ๆ มาเรียนรู้ 1 ภาคเรียน เขาจึงออกแบบการสอนที่เน้นฝึกปฏิบัติ ให้เด็กได้เล่น และสัมผัสประสบการณ์จริงจากกิจวัตรของเขา ทั้งยังปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรด้วย เพราะตัวเขาเองจากนักธุรกิจในกรุงเทพฯ แต่เมื่อต้องกลับมาอยู่บ้านที่ลำปาง เป็นเกษตรกร ก็สามารถอยู่ได้ ด้วยการรู้จักคิดนอกกรอบ รู้จักใช้โซเชียลมีเดียสื่อสาร การสร้างแบรนด์ การมีตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรของตัวเอง

สำหรับบทบาทของคุณครูธนโชติ ผู้ดูแลชุมนุมจะอยู่ในเวลาที่คุณนพดลสอนด้วย และช่วยสรุปหรือทบทวนให้เด็ก ๆ เพิ่มเติมถ้าเด็กไม่เข้าใจ เพราะครูจะใกล้ชิดกับเด็กมากกว่า ชุมนุมนี้มีเด็กประมาณ 15 คน อยู่ในวัยที่ต่างกัน มีตั้งแต่ ม.1-6 ช่วงแรกครูจึงต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ในโรงเรือนเป็นหลัก แต่วันนี้เขาฝึกเด็ก ๆ ให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานร่วมกันก็มีความท้าทาย คุณนพดลกล่าวว่า การมาอบรมให้เด็ก ๆ ต้องมีทุนในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนอุปกรณ์ ถ้าเป็นไปได้อยากมีผู้สนับสนุน ที่ผ่านมาเขาใช้อุปกรณ์เท่าที่มีจากที่บ้านไปให้เด็กก่อน ด้านคุณครูธนโชติก็พยายามแก้ไขอุปสรรคนี้ โดยชวนญาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจให้มาร่วมบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมให้แก่โรงเรียน เพื่อรับผลประโยชน์ด้านภาษี คุณครูหวังว่าถ้ากิจกรรมนี้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้เพื่อกลับมาเป็นทุนหมุนเวียนได้ในอนาคต แม้จะขาดทุนแต่กำไรที่ได้ก็คือความรู้ที่นักเรียนและชุมชนได้รับ

สำหรับโรงเรียนห้างฉัตรวิทยา นอกจาก Smart Farming แล้ว ยังมีโครงการสร้างความร่วมมือฯ หรือ CE ที่มุ่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพด้านการท่องเที่ยวด้วย ได้แก่ English for Tourism โดยร่วมมือกับสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ สังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยทั้ง 2 โครงการมีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
คุณครูนันท์นภัส หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานร่วมกันในโครงการ CE ว่า English for Tourism อยู่ระหว่างการหาแนวทางฝึกฝนเด็ก ๆ ให้ได้สนทนาภาษาอังกฤษมากขึ้นหรือมีทัศนคติที่ดีกับการเรียนภาษาอังกฤษ ขณะที่ Smart Farming หลังจากที่คุณนพดลจากไร่เยาวรัตน์เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนพยายามให้ครูผู้รับผิดชอบเขียนเป็นหลักสูตร เพื่อถ่ายทอดให้ครูท่านอื่น ๆ ได้ด้วย ก่อนหน้านี้หากโรงเรียนดำเนินการคาบชุมนุมนี้เองก็อาจทำได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะไม่มีหลักสูตร และจากวันแรกที่ร่วมมือกันจนมาถึงวันนี้คุณครูนันท์นภัสมองว่ามาไกลกว่าที่คิด เพราะความรู้เหล่านี้กำลังจะเข้าไปสู่วิชาต่าง ๆ อาทิ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปเสริมกับวิชาฟิสิกส์ได้ เรื่องเห็ดก็สามารถสอดแทรกไปกับวิชาชีวะได้ เรื่องเกษตรก็สามารถนำเข้าไปในวิชาด้านการเกษตรได้ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็นำเข้าไปในกลุ่มวิชาคหกรรมได้

“มันไกลมากนะ มันมาจากว่าเราอยากได้คุณค่าจากตรงนั้น แล้วตอนทำก็ไม่ได้ทำแบบไม่มีหลักเกณฑ์ เราให้ครูกลับไปดูหลักสูตรว่าเหมาะกับชั้นไหน ม.ไหน ที่จะเรียนเรื่องนี้” คุณครูนันท์นภัสกล่าว

คุณครูนันท์นภัสได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่จะทำให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกประสบความสำเร็จว่า ส่วนใหญ่บุคลากรจากหน่วยงานที่มาร่วมมือกันเป็นคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว และบางคนก็รู้จักมีสายสัมพันธ์ที่ดีกันมาก่อน จึงมีใจที่จะทำงานด้วยกัน เหลือเพียงการลงมือทำว่าจะวางแผนทำงานอย่างไร มีการบริหารจัดการเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนริเริ่มโครงการ ทางโรงเรียนไม่ได้วางแผนงานนี้ไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้การดำเนินงานมีอุปสรรคหรือไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง ดังนั้น คนประสานจึงสำคัญที่จะต้องคอยบริหารจัดการให้งานมีพัฒนาการไปข้างหน้า มีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ และเมื่อทุกฝ่ายเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก อุปสรรคก็จะลดลง

“ครูมองที่ตัวเด็ก เด็กได้อะไรในสิ่งที่เราทำ และจะประสานยังไงไม่ให้เกิดรอยร้าวหรือความขัดแย้ง ต้องไม่มีคำว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้ และต้องทำให้ดีที่สุด ประโยชน์สูงสุดไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา” คุณครูนันท์นภัสกล่าวและย้ำว่า “ใจของคนทำ” คือปัจจัยความสำเร็จของความร่วมมือครั้งนี้

นี่คือหนึ่งในผลลัพธ์ของความร่วมมือระหว่างคุณครูและคนในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยกันพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะอาชีพซึ่งเป็นอีกทักษะสำคัญ และทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ตามกำลังและศักยภาพที่มี เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของชุมชนต่อไป

ขอขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จากโรงเรียนห้างฉัตรวิทยา จ.ลำปาง ใน “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน” (Community Engagement)
#ร้อยพลังการศึกษา #ห้างฉัตรวิทยา #ImpactStory #CommunityEngagement