“ร้อยพลังการศึกษา” พาแอ๋วเหนือ เยือนโรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม สัมผัสวิถีชีวิตโรงเรียนชาวเขาปกาเกอะญอ

ในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี สายลมหนาวที่พัดโบกโบยมาเป็นระยะ ทำให้เรารู้สึกเย็นสบาย จึงถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่โครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” จะพาออกไปสัมผัสลมหนาวในพื้นที่ภาคเหนือกันบ้าง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆ ที่ได้รับโอกาสจากน้ำใจของคนไทยที่สนับสนุนการศึกษา

เราเดินทางมุ่งหน้าไปที่ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เมืองที่เงียบสงบ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อาชีพหลักคือ เกษตรกรรม อาชีพเสริมคือ การทอผ้า

การเดินทางมาครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เห็นเกษตรกรกำลังขะมักขะเม้นช่วยกันเก็บเกี่ยวรวงข้าวสีทองเหลืองอร่ามเต็มทุ่งนา หากแต่ว่าจุดหมายของเรานั้นอยู่ที่ โรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม โรงเรียนในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลางมีนักเรียนจำนวนกว่า 400 คน เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-มัธยมศึกษาตอนปลาย มีเครื่องมือในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” ประกอบด้วย ทุนการศึกษา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ห้องเรียนดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์ โดยบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ โดยเครือข่ายจิตอาสา

เกษตรกรกำลังขะมักขะเม้นช่วยกันเก็บเกี่ยว

โรงเรียนแห่งนี้มีพื้นที่ไม่มากนักแต่ก็ร่มรื่นด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มทำให้เราต้องแอบสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอด ก่อนที่ผู้อำนวยการโรงเรียน “นายทองศรี จินะ” จะทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เราไม่รีรอที่จะถามเหตุผลว่า ทำไมโรงเรียนจึงเปิดรับเครื่องมือของโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา”

บรรยากาศยามเช้าโรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม
บรรยากาศการเข้าเเถมเคารพธงชาติ

“การทำงานด้านการศึกษาต้องทำแบบเชิงรุก เราต้องการให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมกับการเปิดโลกทัศน์ให้กับครู” นายทองศรีตอบ

นายทองศรี จินะ ผู้อำนวยการโรงเรียน

บทสนทนาเริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เราทราบว่าเด็กนักเรียนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ครอบครัวมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงมีรายได้ไม่แน่นอน ส่งผลให้มีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก โรงเรียนจึงพยายามขอทุนการศึกษาจากหน่วยงานภายนอกแต่ก็ยังไม่เพียงพอ การช่วยเหลือส่วนใหญ่จึงมาจากผู้ปกครอง สมาคมศิษฐ์เก่าและการพึ่งพาตนเอง

“เวลาต้องทำกิจกรรมต่างๆ เราจะพยายามพึ่งพาตนเองด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ขณะที่ชุมชนก็เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนโยบาย ส่วนเอกชนยังเข้าไม่ถึงเพราะในพื้นที่ไม่มีภาคธุรกิจ” นายทองศรีกล่าว

ครูกนกพร อุสาหะพงษ์สิน ครูสอนวิชาแนะแนวแต่พ่วงท้ายด้วยการรับหน้าที่ดูแลเรื่องทุนการศึกษามากว่า 4 ปี บอกว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีนักเรียนทุนในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” กว่า 57 คน เธอรู้สึกดีใจที่เด็กๆ ได้ทุนการศึกษาจำนวนมาก

ครูกนกพร อุสาหะพงษ์สิน ครูสอนวิชาแนะแนวเเละดูแลเรื่องทุนการศึกษา

“เด็กส่วนใหญ่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทำให้ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน” ครูกนกพรกล่าว

บรรยากาศการเดินทางมาโรงเรียนของเด็กๆ

“ระยะทาง” ไปโรงเรียนก็เป็นอุปสรรคทำให้เด็กๆ หลุดจากระบบการศึกษา โรงเรียนจึงช่วยเหลือด้วยการให้พักอาศัยในหอพักของโรงเรียน ที่นี่เราได้พบ น้องโอ๋เอ๋ นักเรียนทุนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีนี้เป็นปีแรกที่เธอได้ทุนการศึกษาและเป็นปีแรกที่ต้องเป็นเด็กหอ ซึ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเองไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า รีดผ้า ทำกับข้าว และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

น้องโอ๋เอ๋ นักเรียนทุนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กำลังเดินไปโรงเรียน
กิจกรรมที่น้องโอ๋เอ๋ทำในหอพัก
น้องโอ๋เอ๋ทำกับข้าวรับประทานในมื้อเย็น

“บ้านของหนูกับโรงเรียนไกลกันกว่า 25 กิโลเมตร ประกอบกับบ้านยากจนจึงต้องขอทุนการศึกษาและนอนพักที่โรงเรียน หนูดีใจมากที่ได้ทุนเพราะได้แบ่งเบาภาระของครอบครัว” น้องโอ๋เอ๋กล่าว

ครอบครัวของน้องโอ๋เอ๋

เช่นเดียวกับ นางสาวราตรี สุจาดึก แม่ของน้องโอ๋เอ๋ ก็รู้สึกยินดีที่ลูกสาวได้รับทุนการศึกษา

นางสาวราตรี สุจาดึก แม่ของน้องโอ๋เอ๋

“ครอบครัวของเรายากจน รายได้ของครอบครัวส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าวโพด และทอผ้า แต่พอได้ทุนการศึกษาก็ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้านได้ เราอยากให้ลูกเรียนสูงๆ อนาคตจะได้ไม่ลำบาก” นางสาวราตรีกล่าว

โตขึ้นอยากเป็นอะไร ? คำถามยอดฮิตที่เราไม่พลาดที่จะหาคำตอบ

น้องโอ๋เอ๋ นักเรียนทุนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

“หนูอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ถ้าได้เป็นครูจริงๆ ก็จะมาสอนที่ทุ่งหัวช้างเพราะอยากนำความรู้มาสอนน้องๆ เวลาเจอชาวต่างชาติจะได้สื่อสารรู้เรื่อง” โอ๋เอ๋พูดกล่าวด้วยแววตาที่มีความหวัง

เสน่ห์ของคนทุ่งหัวช้าง เขาบอกว่าอยู่ที่ “การทอผ้า” เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะและงดงามประณีต ถือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน แน่นอนว่าเด็กๆ ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาทอผ้าจากคนในครอบครัว เช่นเดียวกับ น้องจอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนทุนและตัวแทนนักเรียนในโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ งานหลักของเธอคือ ปั่นฝ้ายและช่วยพ่อแม่ทอผ้าเป็นบางครั้ง

น้องจอยกำลังช่วยเเม่ปั่นฝ้าย
ครอบครัวของน้องจอย

นอกจากน้องจอยจะเป็นนักเรียนทุนของมูลนิธิยุวพัฒน์เพราะครอบครัวมีฐานะยากจนแล้ว เธอยังเป็นตัวแทนที่เข้าร่วมโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ ซึ่งเป็นระบบพี่เลี้ยงโดยนักศึกษาอาสา และนักเรียนอาสาในการดูแลรับฟังเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงส่งเสริมให้นักเรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

เวลาว่างน้องจอยเเละเพื่อนๆจะร่วมประชุมโครงการ “มารู้จักตัวเองกันเถอะ”

เธอและเพื่อนๆ กว่า 8 คน ช่วยกันออกแบบโครงการที่ชื่อว่า มารู้จักตัวเองกันเถอะ (Know Yourself) เพื่อช่วยให้นักเรียนชั้น ม.6 รู้จักตนเองมากขึ้น เธอบอกว่าการรู้เป้าหมายจะทำให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำและอาชีพ พยาบาล ก็คือเป้าหมายของเธอ

น้องจอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนทุนและตัวแทนนักเรียนในโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ

“บางคนไม่รู้ว่าชอบเรียนวิชาอะไร เรียนไปทำไม จบแล้วจะทำงานอะไร ซึ่งหนูเคยเจอปัญหานี้ หนูรู้สึกดีใจที่โรงเรียนเปิดรับโครงการวัยรุ่นอุ่นใจของโครงการร้อยพลังการศึกษา เพราะเป็นโอกาสที่หนูและเพื่อนๆ จะช่วยให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนให้รู้เป้าหมายชีวิตถือเป็นการทำประโยชน์ให้โรงเรียนด้วย” น้องจอยกล่าว

ครูอังคณา วงค์ฝั้น ครูสอนวิชาคณิศาสตร์ ก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า เด็กนักเรียนบางคนยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องเรียนวิชาคณิตศาตร์

ครูอังคณา วงค์ฝั้น ครูสอนวิชาคณิศาสตร์
ห้องเรียนดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์ โดย เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด

“เด็กๆ ไม่รู้ว่าเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม เมื่อยิ่งไม่รู้ก็เลยไม่ชอบ แต่ก็พยายามคุยเปิดใจกับเด็กๆ ประกอบกับมีห้องเรียนดิจิทัลวิชาคณิตศาตร์ของเลิร์น เอ็ดดูเคชั่นก็ช่วยให้พวกเขาเรียนคณิตศาสตร์ด้วยความสนุกและเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น” ครูอังคณากล่าว

น้องฝนเเละน้องปลาวาฬ นักเรียนที่เรียนห้องเรียนดิจิทัลวิชาคณิศาสตร์ โดยเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด

“ชอบเรียนเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น เพราะเวลาเรียนครูผู้สอนก็จะเล่นมุกตลกทำให้คลายเครียด” น้องฝนกล่าว

“หนูเรียนเข้าใจ ได้รับความรู้มากขึ้น และทำให้เข้าใจการใช้เทคโนโลยี ยิ่งเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็ต้องใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์” น้องปลาวาฬกล่าวเสริม

บรรยากาศภายในโรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม

โรงเรียนและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในเรื่องการพัฒนาและความสำเร็จด้านการศึกษา นี่คือแนวคิดที่สอดคล้องกันระหว่างผู้บริหารโรงเรียนและ นายทรงศรี ชูวัฒนกุล นายกเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง ที่พยายามร่วมมือกันให้การศึกษาที่มีคุณภาพกับลูกหลาน เพื่อเพาะกล้าคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาท้องถิ่น และสร้างวิถีวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต

นายทรงศรี ชูวัฒนกุล นายกเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง

“การที่จะให้ลูกหลานของเรามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด เราต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ เด็กๆ จะได้อยู่กับผู้ปกครองและช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่าย เราอยากให้ลูกหลานที่ไปเรียนนอกพื้นที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดมากขึ้น” นายทรงศรีกล่าว

เราพยักหน้าเห็นด้วยกับเขา เพราะระยะเวลาเพียงไม่กี่วันที่ได้มาอยู่ ณ ชุมชนทุ่งหัวช้างแห่งนี้ เราได้พูดคุยกับเด็กนักเรียนหลายคน พบว่าพวกเขาต่างต้องการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อทำตามความฝันคือ การได้ทำงานที่ดีพร้อมไปกับการพัฒนาบ้านเกิดเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ครอบครัวและชุมชน

ถึงวันนี้ดูเหมือนยังต้องเดินทางไกลจนกว่าจะถึงจุดหมาย แต่ใช่ว่าการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพแก่เด็กด้อยโอกาสจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันในการให้โอกาสการศึกษาแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม