ไม่ได้คิดว่าจะเป็นครู

‘แบงค์’  ผู้โตมาท่ามกลางสังคมเมืองกรุง เรียนหลักสูตรอินเตอร์ และเคยไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เขาเคยคิดว่า
“อาชีพครูงานหนัก เงินเดือนน้อย” จึงไม่ใช่อาชีพที่เขาอยากจะเป็น 
ตอนนั้นเขาคิดว่าต้องเป็นเภสัช ตามความคาดหวังของที่บ้าน แต่ชีวิตการเรียนของเขาไม่ได้ราบรื่นสวยงามเขารู้สึกว่า เขาไม่เหมาะกับสายวิทย์-คณิตฯ หรือแม้กระทั่งสายศิลป์ เพราะในมุมมองของแบงค์ เขามองว่าการเลือกเรียนต่อในสายสามัญ มีทางเลือกน้อยเกินไป 

คนเก่งก็จะเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ขณะที่คนเรียนไม่เก่ง ต้องเลือกเรียนสายศิลป์
เขาที่พอเรียนทุกสายได้แต่ไม่ถึงกับเก่ง จึงรู้สึกทุกข์ที่หาเส้นทางที่เหมาะสมของตัวเองไม่ได้

ไม่เพียงแต่เรื่องเรียน ความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อน คนรอบตัว เขาเองก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัดในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น  จึงมักจะเลี่ยงการทำงานที่ต้องพบปะกับคนจำนวนมากจนกระทั่ง เรียนจบมา ทำธุรกิจของครอบครัว แล้วก้าวสู่การเป็นหัวหน้าแบงค์รู้เลยว่า ปมในใจอย่างหนึ่งที่เขาไม่เคยถูกแก้ไขเลย คือ เรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น แบงค์กลายเป็นหัวหน้าที่ไม่เข้าใจคน  ไม่เข้าใจการพัฒนาลูกน้อง 

“ทำไมลูกน้องไม่ฟังฉันเลย”

จนกระทั่ง แบงค์ได้รู้จักกับ โครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach For Thailand) ที่ไปสอนนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส เขาจึงตัดสินใจว่าอยากพักงานที่ดูแลธุรกิจของครอบครัวไว้ก่อนแล้วไปเป็นครู เนื่องจากครูเป็นอาชีพที่ต้องทำงานร่วมกับคน

“ถ้าอยากทำบุญเราหาเงินเยอะๆ แล้วมาบริจาคให้พวกเด็กๆ ก็ได้ ไม่เห็นต้องมาเป็นครู”
“การมาเป็นครูมันก็ช่วยเหลือเด็กได้แค่ไม่กี่คน ถึงแบงค์ไม่ได้มาเป็นครูก็มีคนอื่นมาเป็นแทนอยู่ดี”

เสียงคัดค้านจากคนในครอบครัวแต่แบงค์ยังคงแน่วแน่ที่อยากจะเป็นครู  เขาสมัครและผ่านการคัดเลือก กลายมาเป็น
ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์
ในตอนแรก ครูแบงค์ก็ไม่ได้เข้าใจเด็ก 

“ภาษาอังกฤษที่ฉันสอนมันง่ายนะเนี่ย ทำไมนักเรียนไม่ฟังฉัน”
ความคิดที่ไม่ต่างจากตอนที่เขาเป็นหัวหน้าที่สั่งงานลูกน้องเลย 

ในขณะที่ครูแบงค์ต้องเรียนรู้จะปรับตัว เรียนรู้การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนานักเรียนก็มีนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่ไม่ต่างจากครูแบงค์ ซัมเมอร์ นักเรียนหญิงชั้น ม.3 ที่ใครๆ มองว่าเธอเป็นเด็กเรียน เด็กเนิร์ด ซัมเมอร์เคยเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องเรียนมากๆ จนบางครั้งเธอก็ไม่มีความสุข เพราะมันตึงเครียดมากเกินไป และการเป็นแบบนั้น ทำให้ซัมเมอร์เผลอคิดดูถูกคนอื่น

“คิดได้แค่นี้เองหรอ”
“ทำไมไม่ตั้งใจเรียนเลย”
“ทำไมทำไม่ได้”

ความคิดในหัวของซัมเมอร์ที่ดูถูกเพื่อนๆเมื่อก่อน ซัมเมอร์คิดว่าตัวเองอยากเป็นหมอ แต่พอเวลาผ่านไป ความชอบกลับสวนทางในสิ่งที่อยากจะเป็นซัมเมอร์มีศิลปินเกาหลีในดวงใจและเธอฝันอยากจะเป็นศิลปินแต่ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนจนกระทั่ง วันหนึ่ง ซัมเมอร์ตัดสินใจเข้าไปถามครูแบงค์

“ครู ถ้าหนูอยากย้ายโรงเรียนต้องทำยังไงถ้าไปเรียนเกาหลี มีทุนอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเยอะมั้ยคะ?”

ครูแบงค์สงสัยจึงนั่งคุยกับซัมเมอร์ จนเข้าใจว่า จริงๆ แล้วซัมเมอร์กำลังเครียดเรื่องการเรียนต่อเธออยากเรียนสายการแสดง แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วย ซัมเมอร์จึงอยากให้ครูแบงค์ไปคุยกับพ่อแม่ให้ “ครูอยากให้ซัมเมอร์แสดงความสามารถให้พ่อแม่เห็นนะ” ครูแบงค์สนับสนุนให้ซัมเมอร์ได้แสดงความสามารถออกมาโดยช่วยให้ซัมเมอร์ได้ขึ้นไปแสดงบนเวทีเมื่อวันคริสมาสต์มาถึง ซัมเมอร์ขึ้นไปแสดง ขณะที่ครูแบงค์ช่วยให้กำลังใจตลอด

“เจ๋งมาก”
“ชอบมากเลย”
“สนุกดี”
“รู้จักมั๊ยใครที่ขึ้นไปเต้น”

ฟีดแบค (feedback) จากเพื่อนๆ รุ่นพี่ในโรงเรียน ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยว่าซัมเมอร์มีความสามารถด้านการเต้น เพราะคนอื่นมองว่าเธอเป็นเด็กเนิร์ดหลังการแสดงผ่านไปซัมเมอร์เข้าไปบอกกับครูว่า

“หนูมีความสุขที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา”  

เด็กแต่ละคนมีความต้องการแสดงตัวตน สิ่งที่ครูแบงค์ทำคือการสร้างพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ได้ปลดปล่อยพลังงานเชิงบวกออกมา และไม่ใช่ว่าเด็กเรียนจะไม่มีเรื่องทุกข์ใจ พวกเขาก็มีเรื่องราวความกดดันในใจเช่นกัน   เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ครูแบงค์มาเป็นครู  มีหลายคนสงสัยว่า ไม่เสียดายเวลาหรือ ในขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นก้าวหน้าในอาชีพการงาน เงินเดือนหลักหมื่นหลักแสน แล้วครูแบงค์มัวทำอะไรอยู่

แต่นี่คือ การค้นหาความหมายชีวิตของเขาเอง  เขาหยุดเพื่อที่จะสามารถเติบโตต่อได้ และนั่นคือการหยุดแล้วมาทำทีช ฟอร์ไทยแลนด์  การเป็นครูทำให้เขาค้นพบว่าไม่ว่าคุณจะเก่งทฤษฏีแค่ไหน ถ้าไม่สามารถซื้อใจใครได้ ก็ไม่มีใครอยากทำงานด้วย นักเรียนก็เช่นกันดังนั้น การเลือกมาทำ ‘อาชีพครู’ ผู้ซึ่งข้องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์จำนวนมาก ไม่ใช่เป็นการหนีปัญหาไปทำสิ่งที่ง่ายหรือถนัด สำหรับการเป็นครู มันคือความท้าทายที่ยากมากๆ ด้วยซ้ำ 

การเป็นครูเป็นเหมือนการผจญภัยที่คาดเดาไม่ได้ว่าแต่ละวันจะเจออะไร เพราะเด็กนักเรียนวันนี้อาจจะเป็นเด็กดี พรุ่งนี้เค้าอาจจะโดดเรียนก็ได้ แต่นี่แหละ คือ มนุษย์ จากแรกๆ ที่ครูแบงค์ไม่เข้าใจเด็กเลย  แต่พอเขาใช้ใจมากขึ้น เข้าอกเข้าใจ เปิดใจ เห็นใจ มันทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมาก สุดท้ายครูแบงค์ได้ฝึกการใช้ใจแลกใจ มีความปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ 

และนี่ไม่ใช่สิ่งที่ครูแบงค์กำลังทำคนเดียว แต่ยังมีคุณครูอีกหลายท่านที่กำลังทำสิ่งเดียวกันนี้ เพื่อพัฒนานักเรียนและหวังที่จะเห็นลูกศิษย์เติบโตอย่างสวยงาม

 

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจาก ‘น้องซัมเมอร์’ และ ‘ครูแบงค์ ธนัช เต็งอำนวย’ คุณครูในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง Teach For Thailand

#ร้อยพลังการศึกษาX@TeachForThailand

#แด่ครูผู้ไม่ยอมแพ้