“โรงเรียนวัดตะคร้ำเอน” บทเรียนจากพลัง “ท้องถิ่น” ร่วมลดความเหลื่อมล้ำ

คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “โรงเรียนเหมือนบ้านหลังที่สอง” ยิ่งออกแบบ จัดภูมิทัศน์ให้ดูสวยงาม ร่มรื่น โรงเรียนก็น่าจะเป็นวิมานที่แปลกตา แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง “ครู” กับ “นักเรียน” ที่เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกันก็ยึดโยงโรงเรียนกับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม

ณ  โรงเรียนวัดตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี  เป็นเช่นนั้นจริงๆ นั่นคือ ห้องเรียนบางส่วนล้วนแล้วแต่ทาสี ด้วยความภาคภูมิใจของผู้บริหารโรงเรียนถึงจุดคุ้มทุนในเชิงพัฒนาของห้องเรียน ด้วยอิทธิพลของเฉดสีที่มีต่อความรู้สึกและกระตุ้นการเรียนรู้

โรงเรียนและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทั้งในเรื่องการพัฒนาและความสำเร็จ  ผู้บริหารโรงเรียนจึงมีอีกหนึ่งบทบาทในการสร้างกลไกการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน พัฒนาความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกัน

“ชุมชนยินดีที่จะช่วยเหลือโรงเรียนในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาการศึกษาและกิจกรรม เราพยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้นำในท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น เทศบาล วัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า มาเป็นพลังความร่วมมือที่จะช่วยผลักดันให้โรงเรียนเจริญก้าวหน้า” นายนคร มากมีทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตะคร้ำเอน  โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา กล่าว

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ นำมาซึ่งความเข้มแข็งและความร่วมมือสนับสนุนจากชุมชนในกิจกรรมสร้างสรรค์และพัฒนาต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน

“ชุมชนวัดตะคร้ำเอนของเราถือว่าเข้มแข็ง เรามีส่วนช่วยให้ยั่งยืนได้ก็ด้วยการช่วยเหลือในสิ่งที่โรงเรียนขาด หากทำไม่ได้ก็จะชวนคนอื่นมาช่วยสนับสนุน ซึ่งก็ยังต้องการให้มีภาคธุรกิจในท้องถิ่นมาช่วยอีกเยอะๆ” นางไพลิน บุญมา คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวัดตะคร้ำเอน กล่าว

ในวันนี้ “ภาคธุรกิจ”ได้เข้ามามีส่วนร่วม นั่นคือ “บริษัท โล้วเฮงหมงมอเตอร์ จำกัด” ภาคธุรกิจในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ให้การสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมากว่า 10 ปี หนึ่งในนั้น คือ โรงเรียนวัดตะคร้ำเอน

ด้วยปรัชญาที่ว่า “การค้าคู่คุณธรรม ธุรกิจคู่สังคม” จึงทำให้ธุรกิจดังกล่าวให้การสนับสนุนโรงเรียน โดยเน้น 2 เรื่องหลัก คือ การอบรมความปลอดภัยทางถนนและการศึกษา โดยให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่เรียนดี แต่ยากจนเป็นประจำทุกปีทุนละ 3,000 บาท จนจบการศึกษา

“ผมให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเพราะเป็นพื้นฐานของประเทศ เด็กมีการศึกษาดี สังคมก็ดี ประเทศก็ดี อีกอย่างเมื่อทำธุรกิจและเติบโตต้องหันไปดูสังคม เพราะถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจของเราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าการค้าดี สังคมก็ต้องดีไปด้วย” นายวรวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โล้วเฮงหมงมอเตอร์ จำกัด กล่าว

การสร้าง “งาน” หรือ “โอกาส” มารองรับทักษะของเด็ก ๆ อย่างเหมาะสมก็ถือว่าเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมการศึกษาให้“ครบวงจร”

“เราทำความร่วมมือกับสถานศึกษาการอาชีพเพื่อเปิดรับนักเรียนที่อยากมาฝึกงาน เช่น ช่างยนต์ ให้ช่างของเราเป็นคนสอนทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ บางคนอยากมาทำงาน ถ้ามีความรู้ เราก็รับเข้าทำงานเลย”นายวรวุธ กล่าว

เราต่างรู้ว่า “ความเหลื่อมล้ำ” มีที่มาจาก “ต้นทุน” ของชีวิตที่ไม่เท่ากัน แต่คำถามคือ เราจะสร้างและเพิ่มพูนต้นทุนให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่

“เรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่ที่วิธีคิด เราทำให้เท่าเทียมเขาได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง สร้างโอกาส ด้วยสภาพโรงเรียนที่มีเด็กขาดแคลน จึงเปิดรับเครื่องมือจากโครงการร้อยพลังการศึกษาทั้ง ทุน ห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ เพื่อเด็กของเราจะเท่าเทียมกับที่อื่นและเติบโตไปเป็นคนคุณภาพ” นายนคร มากมีทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

“เด็กชอบห้องเรียนภาษาอังกฤษ เขาได้ครบทั้ง 4 ทักษะ ทำให้เด็กรู้ว่าเด็กอ่อนตรงไหน เราก็สามารถกระตุ้นตรงจุดนั้นให้เขาได้ ครูก็ได้ประโยชน์เรื่องการใช้สื่อเอามาปรับปรุงการผลิตสื่อของครูได้ และพัฒนาการพูด อ่าน ของครูด้วย” ครูวันดี โชคสมกิจ ครูสอนภาษาอังกฤษ กล่าวเสริม

ภาษาอังกฤษสำคัญไฉน ทำไมเราจึงต้องเรียน ?

“น้องเพชร-เด็กชายกฤษณะ” อายุ 14  ปี  ชั้น ม.3 ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และคิดว่าสำคัญกับการประกอบอาชีพ

“ผมดีใจที่มีคนใจดีนำห้องเรียนภาษาอังฤษมาให้ สนุก การเรียนดีขึ้น มีแบบทดสอบว่าเราเก่งด้านไหน อ่อนด้านไหน โตขึ้นอยากเป็นครู คิดว่าเป็นอาชีพที่ดี มั่นคง” เพชร-เด็กชายกฤษณะ กล่าว

ประชากรของชุมชนวัดตะคร้ำเอนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เกษตรกร มีการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานบ่อยครั้ง เด็กที่นี่จึงหนีไม่พ้นปัญหาความยากจน จำนวนไม่น้อยต้องเผชิญปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง

“น้องเฟิร์ส-เด็กหญิงน้ำฟ้า” อายุ 13 ปี ม.2 เธอรู้สึกดีใจที่ได้รับทุนการศึกษา

“ทุนช่วยเรื่องค่าเทอม อุปกรณ์การเรียน ทำให้หนูต้องกระตือรือร้นในการเรียน วันหนึ่งหนูอยากตอบแทนคนใจดีด้วยการเป็นคนดีของสังคม” น้องเฟิร์ส กล่าว

แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่เธอก็มีผู้เป็นพ่อคอยดูแลเอาใจใส่ดูแล โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

“ผมให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่ผมก็ไม่มั่นใจว่าถ้าไปสอบแข่งกับเด็กในเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะผมมองว่ายังมีความเหลื่อมล้ำ” นายจรูญพันธ์  พ่อน้องเฟิร์ส กล่าว

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “วัด” เป็นที่พึ่งของ “ชุมชน” เป็นศูนย์รวมของสิ่งต่างๆ หลากหลายกิจกรรมอยู่ที่วัด แม้แต่เรื่องของ“การศึกษา”

โรงเรียนวัดตะคร้ำเอนได้รับการสนับสนุนที่ดินจำนวน 2 ไร่ จากวัดตะคร้ำเอน ไม่เพียงเท่านี้วัดยังสนับสนุน “ทุน”การศึกษาเป็นประจำทุกปี

“หลวงพ่อให้ความสำคัญกับการศึกษา ถ้าเราไม่มีการศึกษาก็แก้ปัญหาสังคมได้ยาก อยากให้เด็กมีความรู้เยอะๆ เพราะคนเราจะมีชีวิตรุ่งโรจน์ได้ก็เพราะการศึกษา หลวงพ่อเองก็เรียนมาน้อย เมื่อก่อนไม่มีโอกาสได้เรียนเหมือนกัน” พระครูวิสาลกาญจนกิจ เจ้าอาวาสวัดตะคร้ำเอน กล่าว

ความพิเศษอีกอย่างของทุนการศึกษา ก็คือเป็นทุนจาก “คนที่มาแก้บน”

“โชคดีที่โรงเรียนติดวัดจึงมีทุนหลั่งไหลเข้ามา หลวงพ่อก็อุปการะดูแลเรื่องทุน และเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ มีคนมาขอสิ่งที่ต้องการพอได้แล้วก็จะมาแก้บนด้วยการให้ทุนการศึกษา เช่น ให้ทุนเด็กที่มีชื่อตามตัวอักษรที่ต้องการ” ครูวันดี โชคสมกิจ ครูสอนภาษาอังกฤษ กล่าว

หาก “คุณ”เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครบางคนได้ไปถึงฝั่งฝันคงจะเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจไม่น้อย นี่คือจุดเริ่มต้นของการอยากเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ของ “ครูเมย์-สุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์”  ครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4   สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนวัดตะคร้ำเอน

“เคยเป็นอาจารย์สอนพิเศษ วันหนึ่งเดินสวนทางกับเด็กที่เคยเรียนกับเรา เขาบอกว่า จำหนูได้ไหม ตอนนี้หนูได้เป็นแบบที่ฝัน เราเลยภูมิใจว่าอาชีพนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาประสบความสำเร็จ” ครูเมย์-สุวรัตน์ กล่าว

การเป็น “ครู” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตราบใดที่มีนักเรียนยังอยู่ในห้อง อาจพอจะตอบได้ว่า ครูสอนไปเพื่ออะไร คิดอย่างไรจึงมาสอนหนังสือ

“มีโอกาสไปเป็นครูอาสาที่โรงเรียนวัดในจังหวัดแห่งหนึ่ง อยากนำความรู้ที่เรามีให้เขา ทำให้รู้ว่างานอาสาไม่ใช่แค่ตัวเงินแต่เป็นความอิ่มใจ จึงเข้ามาเป็นครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการทำให้ความแตกต่างของโรงเรียนในเมืองกับพื้นที่ห่างไกลเกิดความเท่าเทียม” ครูเมย์-สุวรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้วยประสบการณ์ของ “ครูลูกปลา –นางสาวศศิพร สามนคร” ครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4 สอนวิชาวิทยาศาสตร์  โรงเรียนวัดตะคร้ำเอนที่เห็นว่ายังมีการ “มอบโอกาส” กับ “ผู้มีโอกาส” อยู่แล้ว ในขณะที่ “ผู้ด้อยโอกาส” กลับไม่มีโอกาสที่จะเข้าสู่อาณาเขตแห่งความรู้ เธอจึงก้าวเข้ามาเป็นครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

“เราอินเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนโรงเรียนวัดตอนประถม เรามีโอกาสสอบจุฬาฯ เราเห็นความแตกต่างบริบทใกล้จุฬาฯ กับบ้านเรา ทั้งที่อยู่ในประเทศเดียวกันยังไม่มีโอกาสเข้าถึง วิชาการ เข้าถึงสื่อการเรียนรู้”

“โรงเรียนวัดตะคร้ำเอน” ถือได้ว่ามีต้นทุนของความร่วมมือจากท้องถิ่นที่ดี ในรูปแบบความร่วมมือที่ต้องช่วยกันพัฒนา แต่จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสสนับสนุนนตามแนวทางของโครงการร้อยพลังการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าถึงวันนั้นโรงเรียนวัดตะคร้ำเอนอาจจะเป็น “ต้นแบบ”ของโรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษาก็ได้