ฉันไม่อยากเป็นครูที่ใจดีที่คุมชั้นเรียนไม่ได้

ครูต๊งเหน่ง มีทัศนคติต่อตนเองว่าไม่อยากเป็นครูที่ดุ ไม่ชอบการออกคำสั่งกับนักเรียน
ทำให้ครูต๊งเหน่งรู้สึกไม่มั่นใจเวลาที่ต้องตักเตือนนักเรียน อย่างเช่น ห้องเรียนที่โรงเรียนไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ ทำให้เด็กๆ ต้องนั่งเรียนที่พื้น เวลาเรียนไปนานๆ เด็กก็เริ่มจะเลื้อย เริ่มจะนอน หลุดโฟกัสจากการเรียน แต่ครูต๊งก็มองผ่านโดยไม่ได้เตือนนักเรียน

ผลกระทบที่ตามมาก็คือ นักเรียนที่ตั้งใจเรียนก็ถูกรบกวน เสียโอกาสในการเรียนรู้ เพราะเวลาที่เพื่อนไม่พร้อมเรียน ครูต๊งก็จะหยุดรอให้เพื่อนๆพร้อมแล้วเรียนต่อไปพร้อมๆกัน พอเป็นแบบนี้นานๆเข้า ครูต๊งก็เริ่มรู้สึกแล้วว่ามันไม่แฟร์กับนักเรียนคนที่ตั้งใจเรียนเลย

จะมีวิธีไหนไหมนะ ที่ครูต๊งจะสามารถจัดการห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ใช่การดุ ด่า หรือตะคอกเด็ก?
ครูต๊งจึงลองมองหาโครงการอบรมที่จะช่วยติดอาวุธให้ครู และครูสามารถนำกระบวนการที่ได้จากการอบรมมาปรับใช้ในการสอน จนเมื่อครูต๊งได้เห็นประกาศรับสมัคร

“ครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้”

แม้ว่าครูต๊งจะไม่ใช่ครูแนะแนว เธอเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ แต่กระบวนการแนะแนวนั้นสำคัญ เพราะการแนะแนวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในคาบเรียนแนะแนว และนักเรียนขาดแรงจูงใจและขาดเป้าหมายในการเรียน ครูต๊งจึงได้สมัครโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ และเข้าร่วมอบรมตลอดหลักสูตรพอกลับมาที่โรงเรียน ครูต๊งถูกมอบหมายให้สอนวิชาแนะแนวเพิ่ม เธอจึงเริ่มสร้างข้อตกลงในห้องเรียน แบบที่ไม่ใช่ครูกำหนดแล้วจดใส่สมุด แต่มันคือการพูดคุยกับนักเรียนและร่วมกันกำหนดว่า นักเรียนอยากให้ครูเป็นแบบไหน

“ครูใจดี” แน่นอนว่าเด็กๆ ต้องชอบครูที่ใจดีอยู่แล้ว แต่….
“ฉันไม่อยากเป็นครูที่ใจดี แต่คุมชั้นเรียนไม่ได้ แล้วทำให้เด็กที่เขาตั้งใจต้องเสียโอกาสอีก” ครูต๊งคิด

ดังนั้น ข้อตกลงร่วมกัน จึงเกิดขึ้นบนความเป็นเหตุเป็นผล กล่าวคือ ถ้านักเรียนอยากให้ครูใจดี นักเรียนก็ต้องมีกติกาของนักเรียนว่าควรปฏิบัติตัวยังไง สุดท้าย จึงเกิดกติกาของครู และกติกาของนักเรียนที่ทุกคนต้องเคารพ

“พอครูให้พวกหนูเสนอว่าอยากให้ห้องเป็นยังไง อยากให้ครูเป็นยังไง แล้วรู้สึกว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏเวลามาเรียน เพราะว่าเราเป็นคนเสนอ เราก็ต้องร่วมกันทำตาม”  แตงโม นักเรียน ม.4 กล่าว

ครูต๊งให้เด็กๆ นั่งเป็นวงกลม เห็นหน้ากันทุกคน แล้วเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นกัน ช่วงแรกๆ แตงโมกับอุ้ม นักเรียนชั้น ม.4 ไม่กล้าพูดเลย เวลาที่ต้องแลกเปลี่ยนความเห็น หรือพูดกับเพื่อนๆ แตงโมกับอุ้มมักจะเงียบและหลบตาครู แต่พอวันเวลาผ่านไป กระบวนการพูดคุย แลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เริ่มจากการคุยเป็นคู่ กลายมาเป็นกลุ่มเล็ก แล้วกลายมาเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งห้อง ทำให้อุ้มกับแตงโมค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว พอเพื่อนในห้องเรียนรู้การฟังกัน โดยไม่ล้อกัน ไม่ตัดสินกัน ทำให้อุ้มกับแตงโมสบายใจและกล้าที่จะแชร์ความคิดเห็น ความรู้สึกกับเพื่อน กล้าบอกเพื่อนว่ารู้สึกยังไง

สิ่งที่เด็กๆ ไม่คาดคิดว่าจะได้จากการทำกิจกรรมแบบนี้ คือ พวกเขาได้รู้จักเพื่อนมากขึ้นในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน แถมยังได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จากการที่กล้าเล่าเรื่องของตัวเองให้เพื่อนกับครูฟัง  พอเด็กๆ รู้จักตัวตนของเพื่อนมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนก็ดีขึ้นด้วย เพราะเขารู้ว่าเพื่อนในห้องของเขา แต่ละคนเป็นคนยังไง แล้วเขาควรจะสื่อสาร หรือปฏิบัติตัวต่อเพื่อนยังไง

เมื่อก่อน  คาบแนะแนว คือ คาบนั่งทำงาน ทำการบ้าน ตามงานที่ค้าง แต่เดี๋ยวนี้ คาบแนะแนวกลายเป็นคาบที่สนุก มีเกม กิจกรรมที่ได้ช่วยกันคิดกับเพื่อนๆ ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกับเพื่อน  และทุกๆ ครั้งที่นักเรียนส่งงานหรือการบ้าน ครูต๊งเหน่งมักจะเขียนข้อความกลับไปยังนักเรียนเพื่อเป็นการให้กำลังใจ และเสริมแรงเชิงบวกให้กับนักเรียน

“สิ่งที่หนูชอบ คือ  ครูเขาชอบเขียนให้กำลังใจมาให้นักเรียนตลอดในใบงานหรือการบ้าน มันทำให้เราอยากตั้งใจเรียน เวลาเหนื่อยๆ ท้อๆ ไปเปิดอ่านแล้วทำให้รู้สึกดีขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น”  อุ้มกล่าว

บรรยากาศการเรียนรู้ที่ครูสร้างให้เด็กๆ รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ช่วยทำให้นักเรียนกล้าที่จะพูดความคิดของตัวเอง ฝึกการใช้เหตุผลในการอธิบายความคิด ฝึกการรับฟังและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อน  ทั้งๆ ที่แตงโมและอุ้ม เป็นคนขึ้อาย แต่สิ่งที่ทำให้พวกเธอกล้าพูดมากขึ้นเกิดจากความรู้สึกที่ไม่กลัวการถูกตัดสิน ไม่ต้องกลัวว่ามันจะผิด รอยยิ้มของครู คำพูดในเชิงบวก การเปิดกว้างรับฟังความเห็น ให้โอกาสนักเรียนได้พูดในสิ่งที่คิด
สิ่งที่โครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ทำให้ครูต๊งเปลี่ยนไป คือทัศนคติ ครูต๊งค้นพบว่า เธอสามารถใช้วิธีการเชิงบวกกับนักเรียนโดยไม่ใช่การออกคำสั่ง แต่ยังคุมชั้นเรียนได้

“ถ้าเราตกลง และทุกคนยอมรับ มันไม่ใช่การบังคับ แต่มันคือข้อตกลงที่เรามีร่วมกัน และมันช่วยให้ครูบริหารจัดการชั้นเรียนได้ง่ายขึ้น นักเรียนเองก็เกิดความตระหนัก เวลาที่เขาเห็นข้อตกลงนี้ที่ติดอยู่หน้าห้อง แล้วตอนท้ายคาบเรามาสะท้อนกันว่า วันนี้เราทำตามข้อตกลงได้กี่ข้อ ” ครูต๊งเหน่งกล่าว

ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป เกิดจากการที่ครูเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วมันส่งผลกระทบเชิงบวกต่อห้องเรียน และนักเรียน ครูต๊งเหน่งเป็นครูท่านหนึ่งที่กล้าจะเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และวิธีการสอน โดยลองก้าวข้ามผ่านความเชื่อเดิมๆ ของตัวเองเลยทำให้เธอมีทัศนคติเชิงบวกเวลาที่จะทำอะไร มีความมั่นใจมากขึ้น  แล้วเมื่อครูเปลี่ยน บรรยากาศในห้องเรียนที่ครูสร้างก็กลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไหลลื่นก็ย่อมส่งผลกระทบเชิงบวกไปยังผู้เรียนเช่นกัน 

ขอขอบคุณเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจาก ‘ครูต๊งเหน่ง’ และ ‘น้องแตงโม น้องอุ้ม’

#SchoolToolsxโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้

#ร้อยพลังการศึกษาx@a-chieve