จอร์ชเด็กเเว๊น

คลิป “จอร์ช เด็กแว้น” ผ่านเพจ “Toolmorrow” ห้องเรียนสังคมถึงโอกาสที่เสียไปของ “เด็กไทย” “เรา” ช่วยอะไรกันได้บ้าง?

จอร์ชเด็กเเว๊น

การเป็น “เด็กหลังห้อง” ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะองค์ประกอบที่สำคัญ ก็คือเด็กต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่ามีความถนัดและชอบอะไร ยิ่งหากได้รับโอกาสและการส่งเสริมให้ได้ “เรียน”ในสิ่งที่ชอบก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน” นี่คือเป้าหมายของ “ร้อยพลังการศึกษา”

1 พฤษภาคมที่ผ่านมา “โครงการร้อยพลังการศึกษา” ได้แนะนำตัวต่อสังคมผ่าน www.tcfe.or.th ในฐานะเครื่องมือหรือตัวกลางที่ทำหน้าที่ระดมความช่วยเหลือจากสังคมเข้าไปช่วย “เด็กด้อยโอกาส” ทั่วประเทศ ด้วยการระดมทุนเพื่อใช้ในการส่งมอบโอกาสโอกาสทางการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนจาก 51 โรงเรียนใน 25 จังหวัด จำนวนประมาณ 15,000 คน ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ โดยจำนวนโรงเรียน พื้นที่จังหวัด จำนวนนักเรียน จะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไป พร้อมความครบถ้วนของเครื่องมือ ที่เข้าไปสนับสนุนก็จะครบสมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ โครงการมีนโยบายให้การสนับสนุนแก่นักเรียนจนจบการศึกษามัธยมปลาย หรือจบสายอาชีวะ หรือจนจบแต่ละหลักสูตร

วิธีการบอกกล่าวเล่าปัญหาของ “เด็กด้อยโอกาส” ให้สังคมเข้าใจและนำส่งสู่การบริจาคเงินเข้าโครงการ “ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา” วิธีการหนึ่งก็คือ การนำเสนอคลิป “จอร์ช เด็กแว้น” โดยทีมงาน “Toolmorrow” เพื่อกระตุ้นต่อมคิดให้คนในสังคมเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่า มีผลต่ออนาคตของเด็กทุกชีวิต และเพราะเด็กคืออนาคตของสังคม จึงเป็นหน้าที่ของคนในสังคมควรมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหา

ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา

จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้าทีมรถตู้ ‘ร้อยพลัง’
ได้รับภารกิจพาเด็กแว้นจากอ่างทองเข้ากรุงเทพฯ
.
“ติดตามโครงการ ‘ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา’
ได้ที่ >> www.tcfe.or.th” <<

Posted by Toolmorrow on Thursday, May 3, 2018

 

“จอร์ช” คือชื่อเล่นของเด็กชายชาวจังหวัดอ่างทองที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมฯ 3 ผู้ลังเลว่าจะไม่เรียนต่อ ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองชอบด้านเครื่องยนต์และอิเล็กทรอนิกส์  เพราะมีปัญหาเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง สื่อสารกับครูไม่เข้าใจ กระทั่งกลายเป็นเด็กหลังห้อง พร้อมกับหันเหความสนใจไปเป็นเรื่องของความเร็วแทน เข้าก๊วนแก๊งมอเตอร์ไซค์ เป็น “เด็กแว้น”

กระทั่งถึงวันที่หนุ่มคนนี้ ได้พบกับทีมงานร้อยพลังการศึกษา และทีมงานทูลมอโร เมื่อปลายเดือนเมษายน..

คุณเสก-สุรเสกข์ ยุทธิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งทูลมอโร

“เราได้ค้นหาตัวละครที่เป็นตัวแทนของปัญหา ซึ่งจอร์ชจะเป็นตัวแทนของเด็กไทยที่สะท้อนปัญหาคุณภาพด้านการศึกษา และมีแนวโน้มจะไม่เรียนต่อจึงเป็นความท้าทายของพวกเราทีมงานจะต้องเอาชนะใจน้องให้กลับมาเรียนต่อให้ได้”

“เสก-สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์”  ผู้ก่อตั้งทูลมอโรกล่าวและว่า นี่เป็นที่มาของสารคดีสั้นแนวทดลอง ที่เดิมพันความสำเร็จของงานด้วยอนาคตของเด็กคนหนึ่ง

กับอีกความท้าทายสำหรับทีมงานร้อยพลังการศึกษา  เป็นเรื่องของระยะเวลาในการโน้มนำเปลี่ยนความเชื่อของจอร์ชให้เรียนต่อเพียง 3 ชั่วโมงเศษๆ เฉพาะช่วงนั่งรถตู้จากอ่างทอง เข้ากรุงเทพฯ ด้วยกัน!

ทีมงานได้วางแผนการถ่ายทำโดยเล่าเป้าหมายงานให้ “คุณแม่” ของจอร์ชรับทราบ และเธอเห็นชอบให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าคลิปนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวจอร์จเอง และต่อโครงการร้อยพลังการศึกษา ที่จะระดมความร่วมมือจากสังคมมาช่วยเด็กขาดโอกาสจำนวนมากแบบจอร์ช

การให้ความร่วมมือในที่นี้ ได้แก่ การที่คุณแม่ยอมเป็นตัวละครในคลิปติดสอยห้อยตามลูกชายนั่งรถตู้ร่วมกับทีมงานเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหาประสบการณ์ใหม่เยี่ยมชมสนามแข่งรถจริง และได้พบกับสิงห์นักบิดตัวจริง โดยที่จอร์ชทราบเพียงแค่ว่า มีทีมงานถ่ายวิดีโอทีมหนึ่งต้องการคัดเลือกเด็กไปเข้ารายการเกมโชว์รายการหนึ่ง เลยจำเป็นต้องพามา “แคสต์” ในบรรยากาศจริง

จอร์ชเชื่อเพราะเห็นแม่มาด้วย และแม่บอกว่าจะมีพี่ๆ เจ้าหน้าที่รายการนั่งรถมาพร้อมกันด้วย นั่นคือที่มาของฉากเปิดของ “คลิปแว้นจอร์ช” ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทีมรถตู้ “ร้อยพลัง” ได้รับภารกิจพาเด็กแว้นจากอ่างทองเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งตัวแทนภาคีเครือข่ายโครงการร้อยพลังการศึกษาที่อยู่ในคณะถ่ายทำคลิปนี้เป็นผู้มีส่วนโน้มน้าวความเชื่อของ “แว้นจอร์ช” ให้เรียนต่อ ประกอบด้วยมูลนิธิยุวพัฒน์ เลิร์นเอ็ดดูเคชัน อาชีฟ และโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ

“โดยปกติคนส่วนใหญ่จะมองภาพเด็กแว้นว่าเป็นเด็กไม่ได้เรื่อง เกเร น่ารำคาญ คอยสร้างปัญหาให้กับสังคม แต่หลังจากที่เราได้มีโอกาสร่วมสร้างสรรค์คลิปนี้ เราพบว่าโดยเนื้อในแล้วพวกเขาเพียงแค่ต้องการเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อน ต้องการพิสูจน์ความสามารถ ชอบอยู่ในที่ๆ เขารู้สึกสบายใจ แต่เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกเชื่อมั่นว่าตัวเองได้ค้นพบเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เขาก็จะพุ่งเป้าไปสู่สิ่งที่สนใจด้วยพลังวัยรุ่นที่มีอยู่เต็มเปี่ยม แม้จะเป็นช่วงเวลาทดสอบช่วงสั้นๆ แต่เราก็เห็นความก้าวหน้าของจอร์ช ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะเรียนต่อในสายที่เขาหลงใหลและตั้งใจจะพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่การขับขี่รถในระดับที่สูงขึ้น” สุรเสกข์กล่าว

คลิป “จอร์ช เด็กแว้น” หลังจากออนไลน์ไปเมื่อ  3 พฤษภาคมผ่านทางเพจ “Toolmorrow” จนถึงวันนี้ เข้าถึงผู้ชมกว่า 1.4 ล้านวิว  ที่สำคัญ คลิปนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “ห้องเรียนทางสังคม” ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดบทสนทนาขึ้นในชุมชนผู้ติดตามเพจของ Toolmorrow ถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย ที่ต้นตอของปัญหาสืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องของโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย

เสียงส่วนใหญ่บอกว่า การที่เด็กไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าตนเองเรียนไปเพื่ออะไร และไม่มีใครช่วยแนะนำหรือส่งเสริมให้เรียนในสิ่งที่ตนเองถนัด รวมถึงการที่เด็กที่ถูกบังคับให้เรียน และไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตนเองชอบก็เป็นอีกหลายๆ สาเหตุของปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา

 “ปัญหาของเด็กๆ ที่ถูกเรียกว่า “เด็กแว้น” พวกเขาเหล่านั้นแค่ไม่มีใครคอยบอกคอยสอน ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า เขาจะถึงเป้าหมายได้ด้วยวิธีการใด ไม่เจอเป้าหมายในชีวิต เขาจึงขวนขวายเพียงแค่ความสุขที่อยู่ตรงหน้า … เหตุการณ์ของน้องคนนี้ น่าจะจบตั้งแต่ได้แนะแนวบนรถตู้แล้วล่ะ ที่เหลือต้องขอบคุณทีมงานที่ให้น้องได้เจอเหตุการณ์จริง และเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น และอยากให้เด็กๆที่เหลือ ได้รับ ได้เข้าถึงโอกาสดีๆ แบบนี้ต่อๆไป”  ความเห็นจาก คุณศุภกร จันทร์ทอง (Supakorn Chanthong)

คุณเอ็ม พันซ่อม หนึ่งในแฟนเพจทูลมอโร กล่าวว่า “ถ้าเด็กชอบแบบนี้ก็สนับสนุนให้เป็นเรื่องเป็นราว แนะนำว่าอันไหนควรไม่ควร ไม่แน่ประเทศไทยอาจมีนักแข่งดีๆ เยอะขึ้น หรือมีช่างซ่อมระดับประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กส่วนมากไม่มีโอกาสเรียนเพราะขาดทุนทรัพย์”

ส่วน ครูแดง พจนา กล่าวว่า “อยากให้เด็กๆ มีเป้าหมายในชีวิต เป็นอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข และไม่เดือดร้อนคนอื่น”

“เด็กที่โตขึ้นและอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ ก็คงคิดว่าจะต้องเรียนคณิต วิทย์ ไปทำไม … คงจะดีถ้ามีหลักสูตรตามที่เด็กชอบ ส่วนบางวิชาก็เรียนพอเป็นพื้นฐานก็พอ”คุณศิริวัฒน์ บรรจงสว่าง (Siriwat Banjongsawaeng) กล่าว

ขณะที่ครูก็มีส่วนสำคัญต่อความสนใจเรียนหนังสือของเด็ก  ไม่ควรตีค่าว่า “เด็กหลังห้อง” เป็นเด็กไม่ดี ควรให้กำลังใจ และหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น  ครูควรเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้เรียนหรือทำในสิ่งที่อยากทำ

“จริงๆ เด็กที่ไม่อยากเรียนต่อ ขาดเรียน โดดเรียน เราอาจจะมองสาเหตุว่ามาจากตัวเด็ก เอาเข้าจริงๆแล้ว สาเหตุมาจากครูผู้สอนนี่เอง … เหมือนที่จอร์ชบอกว่า ไม่อยากเรียนเบื่อครู ครูด่า ที่เขาไม่อยากเพราะ ครูไปตีค่าเขาว่าเป็นเด็กไม่ดี ครูพูดยังไงเด็กก็จะเป็นอย่างนั้น นี่คือสิ่งสำคัญของครู อย่าตีค่าเด็ก ว่าไม่ดี ควรให้กำลังใจ หาเหตุผลที่เขาทำแบบนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ” คุณที่ใช้เฟซบุ๊คในนาม Mild Mild กล่าว

“ค่านิยมเด็กที่ดีคือต้องเป็นสายวิทย์เท่านั้น ต้องทำอาชีพ หมอ ข้าราชการ คือสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้สร้างค่านิยมให้กับอาชีพอื่นๆ ในขณะที่สังคมเรามีหลากหลายอาชีพที่เติบโตและหาเลี้ยงชีพได้อยู่มากมาย แต่ไม่ได้รับการผลักดัน ส่วนใหญ่เลยจบมาไม่ตรงสายกันเพราะเรียนตามพ่อแม่อยากให้เรียน สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้ใหญ่จะทำได้คือผลักดันเขาไปในทางที่เขาชอบในทางที่เขารัก และทางนั้นต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาได้ อยากให้ผู้ใหญ่มองเรื่องการเรียนสายอาชีพบ้าง เด็กจะได้เรียนปฏิบัติจริง และเร็วกว่าเด็กสายสามัญ เด็กทุกคนมีโอกาสเติบโตไปในทางที่ดีค่ะ ผู้ใหญ่แค่มีหน้าที่นำทางเขาไปในแนวทางของเขาในแบบที่เขาจะประสบความสำเร็จได้ค่ะ” คุณชนาทิพย์ จำรูญรัตน์ (Chanathip Jamroonrat) กล่าว

เครื่องมือร้อยพลังการศึกษา

จากปัญหาดังกล่าว “โครงการร้อยพลังการศึกษา” จึงเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมร้อยพลังผู้คนในสังคมไทยให้โอกาสแก่เด็กกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่มีทุนเรียน และกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมี “ตัวช่วย” เพิ่มโอกาส ให้เด็ก 3 ด้าน ได้แก่

  1. โอกาสเข้าถึงการศึกษา  ได้แก่ “ทุนยุวพัฒน์” ให้ต่อเนื่อง 6 ปี จนเรียนจบ ม.6 หรือเทียบเท่า
  2. โอกาสเข้าถึงคุณภาพการศึกษา ได้แก่ ห้องเรียนดิจิทัลวิทย์-คณิตฯ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ห้องเรียนดิจิทัลภาษาอังกฤษ  “วินเนอร์ อิงลิช”  และครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” 
  3. โอกาสในเส้นทางอาชีพ รวมทั้งการมีจิตสาธารณะ ได้แก่ หลักสูตรแนะแนว “อาชีฟ” และ “โครงการวัยรุ่นอุ่นใจ”

โครงการร้อยพลังการศึกษามุ่งเน้นช่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยเหตุผลหลากหลาย ทั้งปัญหาความยากจน และปัญหาการขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เลยทำให้เบื่อเรียน ล้มเลิกความตั้งใจ กระทั่งกลายเป็นเด็กหลังห้อง จนหลุดจากระบบการศึกษา ความเสี่ยงที่ตามมาของเด็กกลุ่มนี้คือ มีแนวโน้มจะพาชีวิตเข้าสู่เส้นทางอาชญากรรม

คำถามคือ เราจะปล่อยให้สังคมเต็มไปด้วยอาชญากรเด็กกันหรือ ? เพราะโอกาสที่สูญเสียไปในแต่ละวันของเด็ก แท้จริงคือโอกาสที่สูญเสียไปของสังคมด้วยเช่นกัน

ถึงวันนี้  “ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา” ยังคงรอแรงสนับสนุนจากทุกคนอยู่  ติดตามรายละเอียดโครงการและช่องทางบริจาคได้ที่ www.tcfe.or.th และเฟซบุ๊คร้อยพลังการศึกษา