โรงเรียนวังข่อย

เมื่อ “การศึกษา” ไม่ใช่เรื่องเสี่ยงทายที่เราต้อง “ลุ้น” เยือนโรงเรียน “ร้อยพลังการศึกษา” และเรื่องราวของ “โอกาส” จากน้ำใจของ “คนไทย”

โรงเรียนวังข่อย

เราทุกคนต้องการ “โอกาส” โดยเฉพาะโอกาสทาง “การศึกษา”  มีเด็กจำนวนนับแสนคนที่เลิกเรียนกลางคันในแต่ละปีสาเหตุหลักมาจากความ “ยากจน” ซึ่งมีเด็กกลุ่มเสี่ยงมากถึง 4.8 ล้านคนสุดท้าย “ความเหลื่อมล้ำ” จึงเกิดขึ้น  “ร้อยพลังการศึกษา” จึงมุ่งสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้

ปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ จังหวัดนครสวรรค์ !

ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2559  โดยสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จังหวัดนครสวรรค์ มีสัดส่วนความจนอยู่ที่ 8.47 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในลำดับที่ 42 เปรียบเทียบกับ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

แน่นอนว่าโรงเรียนพยุหะพิทยาคม ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรีและโรงเรียนวังข่อยพิทยา ตำบลวังข่อย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ย่อมอยู่ในเกณฑ์ของโรงเรียนที่ด้อยโอกาส ขณะที่ประชากรของสองอำเภอนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักทำไร่ ทำนา ทำสวน  และรับจ้าง สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง

เด็กๆ ที่ลืมตาในครอบครัวเหล่านี้ จึงหนีไม่พ้นปัญหาความยากจน และจำนวนหนึ่งเผชิญกับปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง ครอบครัวแหว่งกลาง ต้องอาศัยผู้สูงวัยรุ่นคุณตาคุณยายช่วยเลี้ยงดู ซึ่งไม่ต้องเดาเลยว่าจะลำบากยากจนขนาดไหน

แม้แต่ “ระยะทาง” จะไปโรงเรียนของเด็กในต่างจังหวัดหลายแห่ง ก็กลายเป็นอุปสรรค ผลักไสให้เด็ก “หลุด” จากระบบการศึกษา นอกจากจะไกลแล้ว ยังหารถประจำทางแทบไม่มี

ค่ารถรับส่งเดือนละ 700- 800 บาทจากบ้านมาโรงเรียน สำหรับใครหลายคนคงไม่ได้เป็นภาระมากมาย แต่สำหรับ  “ครอบครัวแก่นด้วง” พวกเขายอมรับว่าเป็นปัญหา

คุณปรีชา แก่นด้วง พ่อน้องน้ำ

“ผมทำงานรับจ้างทั่วไป ตอนยังไม่ได้รับทุนเดือดร้อนเรื่องค่ารถและอุปกรณ์การเรียน แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ต้องเครียดว่าจะหาเงินไหนให้น้องไปเรียน”

คุณปรีชา แก่นด้วง ชาวตำบลวังข่อย คุณพ่อของ “น้องน้ำ” นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษากล่าวและว่า รู้สึกเครียดมาตลอด แต่เมื่อได้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์ทุกอย่างก็ทุเลาลง

“การได้รับทุนทำให้หนูกระตือรือร้นที่จะตั้งใจเรียนมากขึ้น ประพฤติตัวให้เป็นคนดีช่วยเหลือสังคม เพื่อตอบแทนคนที่ช่วยเหลือ”

เด็กหญิงประภัสสรา แก่นด้วง

เป็นสิ่งที่ “น้องน้ำ-เด็กหญิงประภัสสรา แก่นด้วง” ตั้งใจตอบแทนผู้ให้โอกาส

ความแข็งแกร่ง อดทน และมีวินัย เป็นสิ่งที่น้ำถูกปลูกฝัง ทุกวันหลังเลิกเรียนจะต้องฝึก“ชกมวย” เธอทำแบบนี้มาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เคยขึ้นชกทั้งหมด 3 ครั้ง  ครั้งแรกอายุ 10 ขวบ พิกัดน้ำหนัก 27 กิโลกรัม บนเวทีภูธร ชนะได้เงินรางวัล 500 บาท  2 ครั้งที่เหลือ เธอแพ้มาตลอด  แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอหยุดฝึกซ้อมแต่ยังสลับกับการลงแข่งวิ่งมินิมาราธอน 8 กิโลเมตร จนชนะทั้งหมด 5 ครั้ง

โตขึ้น หนูอยากเป็นอะไร ?

เด็กหลายคนคงเจอคำถามเดียวกันกับน้องน้ำ เธอตอบ ว่า “หมอทหาร”

“เพราะได้ช่วยเหลือคนอื่นและทำเพื่อประเทศ” ดูเหมือนว่าเธอได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่เคยเป็นทหารเกณฑ์รับใช้ชาติ

น้องโนนิ-เด็กหญิงภัทรจาริน มูลอินทร์” นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา

“น้องโนนิ-เด็กหญิงภัทรจาริน มูลอินทร์” นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษามีความฝันจะเป็นวิศวกรรมอุตสาหการ เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี

“หนูอยากเป็นวิศวกรรมอุตสาหการ เพราะคิดว่าได้เงินเยอะ อีกอย่างก็ถนัดสายวิทย์ โดยเฉพาะวิชาคณิต ซึ่งพอได้เรียนหลักสูตรเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นทำให้เข้าใจและมีสมาธิมากขึ้น”

“ที่จริงแม่ต้องการให้โนนิเรียนเทคนิคการแพทย์ แต่ตามใจว่าชอบอะไรและต้องเป็นอาชีพที่เรียนจบแล้วมีงานรอ ไม่ใช่รองาน” คุณรัชฎาภรณ์ สมบุญนา คุณแม่ของน้องโนนิกล่าวเสริม

การที่เด็กคนหนึ่งจะมีเป้าหมายชีวิตว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร สำคัญคือ เด็กจะต้องค้นพบตัวเอง เข้าใจตัวเองว่า ถนัดอะไร และมีความสุขกับการทำสิ่งใด  สิ่งนี้โรงเรียนมีส่วนช่วยได้ผ่านหลักสูตร “แนะแนว”

หากพูดถึงวิชาแนะแนวสมัยก่อน ภาพจำที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นบรรยากาศที่ต่างคนต่างได้เล่นสนุกราวกับว่านี่คือ “วิชาอิสระ” ที่ไม่ต้องมีแผนการเรียนการสอน  แต่สำหรับโครงการร้อยพลังการศึกษาได้สนับสนุนให้ครูแนะแนวมีโอกาสได้รับการบ่มเพาะประสบการณ์เข้าอบรมโครงการ “ครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้” กับบริษัท อาชีฟ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด

วนิดา เกตุทอง ครูสอนคณิตศาสตร์และแนะแนว โรงเรียนวังข่อยพิทยาคม

“วนิดา เกตุทอง” ครูสอนคณิตศาสตร์และแนะแนว โรงเรียนวังข่อยพิทยา ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวตั้งใจจะเปลี่ยนวิชาแนะแนวให้เป็นวิชาที่ได้คะแนน “ประสบการณ์” และเปลี่ยนชีวิตของเด็กๆ

“เด็กที่นี่ไม่รู้ข้อมูลอาชีพ ไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ต้องเรียนอะไร แต่หลังจากอบรมเราเริ่มเห็นความสำคัญ รู้จักวิธีทำให้เด็กเปิดใจ กล้าพูดว่าอยากเป็นอะไร เพราะที่สอนอยู่ยังไม่ถูกวิธี จึงพยายามหากิจกรรม เด็กเริ่มสนใจ”

“ครูรุ่นใหม่” ยังมีความหวังกับการศึกษาไทย ความเป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ทำให้พวกเขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง

กุ๊กกิ๊ก-ตุลลิยา สาริบุตร ครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ รุ่นที่ 5

เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อ “กุ๊กกิ๊ก-ตุลลิยา สาริบุตร”  ครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4 ผู้จบปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาสอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนพยุหะพิทยาคม

นอกเหนือจากใบดีกรีแล้ว เธอยังเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่โรงเรียน Gymnasium Grootmoor เมือง Hamburg ประเทศ เยอรมนี 1 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ว่าห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม ที่ให้เด็กๆ นั่งฟังครูสอน และไม่ใช่แค่การท่องจำ

 “ได้เห็นระบบการศึกษาที่ให้เด็กเรียนคณิตแบบคิดวิเคราะห์ จึงสนใจนำมาใช้กับเด็กไทย เราเน้นสอนแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง ให้เด็กสนุกกับการเรียน ให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวิชา แต่ก่อนที่จะใช้กิจกรรมเราต้องปรับทัศนคติว่าเขามีศักยภาพเพราะเด็กที่นี่เชื่อว่ามันยากและทำไม่ได้”

บางทีการลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง อ้าแขนรับนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้นำโรงเรียน อาจทำให้ทัศนคติแห่งการศึกษาแบบเดิมไปสู่การศึกษา “ยุคใหม่”

อาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวังข่อยพิทยา โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา

“การเรียนแบบ 4.0 ทุกคนได้แต่คิดแต่ลงมือทำยาก เมื่อเข้าร่วมโครงการร้อยพลังการศึกษาเหมือนมีพลังเกิดขึ้น เราได้นำเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นและวินเนอร์ อิงลิชเข้ามาใช้ เพราะเป็นการเรียนการสอนยุคใหม่ เป็นผลดีทั้งครูและนักเรียน” อาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวังข่อยพิทยา โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษากล่าว

เช่นเดียวกับ อาจารย์พงษ์เทพ เจริญไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนพยุหะพิทยาคม โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามามีส่วนช่วยให้การศึกษาของไทยดีขึ้น

อาจารย์พงษ์เทพ เจริญไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนพยุหะพิทยาคม โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา

“ไทยแลนด์ 4.0 คงหมดยุคครูสอนบนกระดานดำ จึงต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เราตระหนักถึงเรื่องนี้ ดังนั้น โรงเรียนเราจึงเปิดรับตัวช่วยของร้อยพลังการศึกษา ทั้งเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นและครูทีชฟอร์ไทยแลนด์”  อาจารย์พงษ์เทพ เจริญไทย กล่าว

แม้แต่ครูสอนคณิตศาสตร์ของโรงเรียนก็ยังเปิดรับนวัตกรรมการเรียนแบบใหม่

ครูสุรชัย บัวหลวง ครูชำนาญการพิเศษ

“ระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นช่วยเพิ่มความสนใจ ความรู้ การคิดวิเคราะห์ให้เด็กมากขึ้น เป็นตัวช่วยเสริมทักษะครู หวังว่าเด็กน่าจะมีความรู้และนำไปต่อยอดในอนาคตได้”  “ครูสุรชัย บัวหลวงครูชำนาญการพิเศษ กล่าว

การศึกษาเป็นเป้าหมายในการพัฒนา แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกลับใช้เวลาดำเนินการช้า กลายเป็นปัจจัยที่ชะลอความก้าวหน้าด้านการศึกษา “ชุมชน” จึงกลายเป็นทางร่วมของโรงเรียน

คุณสุรพงษ์ ม่วงมา ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต.วังข่อย

คุณสุรพงษ์ ม่วงมา  ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต.วังข่อย เล่าว่า เด็กชาวตำบลวังข่อยหยุดเรียนต่อมากถึงร้อยละ 20 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พยายามผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้เรียนต่อ  ขณะที่อบต.ได้พยายามปลุกนักเรียนที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ชื่อโครงการ “วัยรุ่นคืนถิ่น” ซึ่งใช้สภาเด็กและเยาวชนตำบลเป็นตัวขับเคลื่อน ให้กรรมการแต่ละหมู่บ้านเข้าไปค้นหาเด็กที่สนใจเรียนและกลับมาทำงานที่บ้าน โดยมีการประสานงานกับแรงงานจังหวัด

ปัจจุบันที่ในท้องถิ่นมีกลุ่มอาชีพกว่า 10 กลุ่ม เช่น ปลูกเห็ดฟาง เลี้ยงไก่พื้นบ้าน ไก่ชน ไก่ดำ ปศุสัตว์ ฯลฯ ให้เยาวชนคนวังข่อยได้มีทางเลือกในการทำมาหาเลี้ยงชีพ

 “ความต้องการที่จะให้ภาคธุรกิจเข้ามาช่วยเหลือทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ดีและยังต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องค่าพาหนะรับส่งของโรงเรียน ทำอย่างไรจึงจะแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองเพราะส่วนใหญ่รับจ้างและเกษตรกรรม และปัญหาหลักของโรงเรียนคือ งบประมาณมีจำกัดและ อบต.ไม่มีงบสนับสนุนที่เพียงพอ” คุณสุรพงษ์กล่าว

แม้แต่ผู้นำการศึกษาก็พยายามหาเรียนรู้วิธีการ “พึ่งตนเอง” เป็น “เป้าหมาย”

“ผมได้เข้าร่วมกับกลุ่มกัลยาณมิตรจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้บริหารโรงเรียนเพื่อจะพัฒนา และยกระดับผลสัมฤทธิ์คุณภาพของโรงเรียน เพราะมีความเชื่อว่าการจะทำอะไรต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ทั้งงบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยี ถ้ารอจากส่วนกลางก็ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ขาดแคลนครู งบประมาณน้อย” อาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด กล่าวทิ้งท้าย

กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดและแนวปฏิบัติของชุมชนพึ่งตนเองในเรื่องการศึกษา แต่การจะสร้างความ “ยั่งยืน” ได้นั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ  ภาคธุรกิจ ภาคสังคมและชุมชน รวมถึงทุกคนในสังคมก็สามารถมีส่วนร่วมได้

ความยั่งยืนของการหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กด้อยโอกาสที่มีอยู่ทั่วประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจำเป็นที่คนในท้องถิ่นจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลลูกหลานของชุมชน

นี่คือเป้าหมายของ “ร้อยพลังการศึกษา” ซึ่งยังรอการสนับสนุนจากคนไทยร่วมกันบริจาคเงินเข้า “โครงการผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา” ที่ www.tcfe.or.th ภายใน 17 มิ.ย.นี้ เพื่อช่วยโรงเรียนและเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสเหมือนกับที่นครสวรรค์

โครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” เป็นโครงการความร่วมมือเชื่อมร้อยพลังผู้คนในสังคมไทยมีเป้าหมายสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมให้แก่เด็กไทย และร่วมลดความเหลื่อมล้ำของสังคม  เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่มีทุนเรียน และกลุ่มเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

“โอกาส” สำหรับ “ร้อยพลังการศึกษา” มุ่งเน้นช่วยเด็ก 3 ด้าน ได้แก่

  1. โอกาสเข้าถึงการศึกษา – ด้วยทุนยุวพัฒน์ต่อเนื่อง 6 ปี ตั้งแต่ ม.1-ม.6 พร้อมพี่เลี้ยงอาสา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์
  2. โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ – ด้วยห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทย์-คณิตที่เรียนรู้ง่าย โดยบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด  ห้องเรียนดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ โดย บริษัทเอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด และครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยโครงการ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
  3. โอกาสเข้าถึงเส้นทางอาชีพและทักษะชีวิต – ด้วยหลักสูตรแนะแนวอาชีพโดย บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด  และโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ โดยเครือข่ายจิตอาสา

ติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.tcfe.or.th หรือเฟซบุ๊ค “ร้อยพลังการศึกษา”