เปลี่ยนวัยว้าวุ่นให้เป็น “วัยรุ่นอุ่นใจ” ติดอาวุธ “ทักษะชีวิต” กับพี่เลี้ยงอาสาและเพื่อนร่วมรั้วเรียน

ใครๆ ก็ว่าโลกสมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว เราได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 (ค.ศ.2001-ปัจจุบัน) อย่างเต็มตัว เปลี่ยนถ่ายจาก ยุคสารสนเทศ (Information Age) มาเป็น ยุคดิจิทัล (Digital Age) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากกับชีวิตไม่เว้นแม้แต่ เด็กและเยาวชน” กลายเป็น  ตัวแสดง”สำคัญที่กำลังจะก้าวเข้ามารับบทนำบนเวทีของอนาคต การศึกษา” จึงเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือความท้าทายเหล่านี้ เพราะนอกจากการเน้นไปที่ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทักษะชีวิต” ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นและมีความสำคัญกับเด็กในศตวรรษที่ 21 นั่นหมายถึง ความสามารถที่พวกเขาจะเดินไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย หากเป็นถนนก็คือการเดินไปให้ถึงปลายทาง เมื่อพบอุปสรรคก็สามารถแก้ไขแล้วไปต่อได้ แต่เมื่อมองให้ดีก็ยังคงมีความหลากหลายของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน อาทิ ปัญหาเด็กติดยาเสพติด เด็กแว้น เด็กติดเกม แม่วัยใส ฯลฯ  สะท้อนให้เห็นว่าเด็กในปัจจุบันขาดทักษะชีวิต”

โครงการร้อยพลังการศึกษาจึงร่วมมือกับเครือข่ายจิตอาสาซึ่งเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการอาสาสมัคร คุณแอม-นันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา” จึงใช้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า โครงการวัยรุ่นอุ่นใจ ซึ่งเป็นระบบพี่เลี้ยงโดยนักศึกษาอาสา และนักเรียนอาสาในการดูแลรับฟังเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงการให้นักเรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

เป้าหมายสำคัญคือ ลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีทักษะและความรู้การเป็นพี่เลี้ยงอาสาสมัครให้กับนักเรียนด้อยโอกาส นำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างกลุ่มแกนนำจิตอาสาในโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยการทำงานจิตอาสา

“เด็กด้อยโอกาสส่วนใหญ่มาจากการครอบครัวที่เปราะบาง ไม่สมบูรณ์ จึงไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ขาดการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดี ทำให้ขาดทักษะชีวิต รวมถึงขาดเป้าหมายและแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ส่งผลเด็กในจำนวนนี้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา” คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนโครงการร้อยพลังการศึกษา กล่าว

คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนโครงการร้อยพลังการศึกษา นับจากซ้ายไปขวาคนที่ 3

ทำไมจึงเลือกใช้โครงการวัยรุ่นอุ่นใจ หลายคนคงมีคำถามนี้อยู่ในใจ

“โครงการนี้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นักศึกษาจะได้ทำงานอาสาสมัครจริงๆ นักเรียนในโรงเรียนก็จะมีทักษะการเป็นผู้นำสามารถทำกิจกรรมที่ออกแบบเอง และดูแลเพื่อนๆ ที่สำคัญเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนที่สร้างสรรค์และการเกื้อกูลกันและกันในโรงเรียน” คุณแอม กล่าว

คุณแอม-นันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา

คุณแอมอธิบายกระบวนการดำเนินงานของโครงการว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ครู นักเรียน และนักศึกษา  โดยหลังจากคัดเลือกโรงเรียนในกลุ่มโครงการร้อยพลังการศึกษาเพื่อเป็นโรงเรียนนำร่องแล้ว โรงเรียนดังกล่าวต้องคัดเลือกนักเรียนอาสาระดับชั้นมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการ พร้อมจัดอบรมกระบวนการเรียนรู้ให้ครูที่ปรึกษาให้สามารถจัดกระบวนการถอดบทเรียนแก่นักเรียนอาสาได้ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยภาคีก็จะต้องคัดเลือกและจัดอบรมเตรียมความพร้อมนักศึกษาอาสาร่วมกับเครือข่ายจิตอาสาเพื่อเข้าไปเป็นผู้อบรมแก่นักเรียนอาสา โดยมีอัตราส่วนของนักศึกษาอาสาจำนวน 10-15 คน ต่อ 1 โรงเรียน

นักศึกษาอาสาจัดค่ายพัฒนาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่น้องนักเรียนอาสา โรงเรียนปายวิทยาคาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อเสร็จกระบวนการอบรมต่างๆ พี่ๆ นักศึกษาอาสาจะจัดค่ายพัฒนาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่น้องนักเรียนอาสา เพื่อให้สามารถออกแบบกิจกรรมอาสาในโรงเรียน สามารถดูแลเพื่อนในโรงเรียน โดยพี่ๆนักศึกษาอาสาจะติดตาม สนับสนุน และให้คำปรึกษาแก่น้องนักเรียนอาสาทางโทรศัพท์ และสื่อออนไลน์ ตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยโครงการจิตอาสาของนักเรียนอาสาที่เตรียมปฎิบัติงาน ในภาคเรียนที่ 2 ปี 2561 ยกตัวอย่างเช่น โครงการแยกขยะเพื่อระดมทุนให้น้อง โครงการมารู้จักตัวเองกันเถอะ  โครงการดูแลความสะอาดในพื้นที่โรงเรียน โครงการลดปัญหาการทิ้งขยะ ฯลฯ

น้องนักเรียนอาสา โรงเรียนปายวิทยาคาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกันออกแบบกิจกรรม

 

“โครงการแยกขยะเพื่อระดมทุนให้น้อง” กิจกรรมที่น้องนักเรียนอาสาออกแบบ

 

“โครงการลดปัญหาการทิ้งขยะ” กิจกรรมที่น้องนักเรียนอาสาออกแบบ

 

โครงการวัยรุ่นอุ่นใจดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ได้รับการตอบรับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ นำร่อง เพราะเล็งเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากกระบวนการอาสาสมัคร ในพื้นที่ภาคเหนือ 4 โรงเรียน ประกอบด้วย

จังหวัดน่าน  จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนมัธยมป่ากลาง โรงเรียนสา

จังหวัดลำพูน จำนวน 1 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนทุ่งหัวช้าง

และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนปายวิทยาคาร

ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาโครงการร้อยพลังการศึกษาได้ขยายความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานอาสาสมัคร ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมูลนิธิยุวพัฒน์และรองอธิการบดี 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

โครงการร้อยพลังการศึกษาได้ขยายความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย พัฒนางานอาสาสมัคร

นี่เป็นส่วนหนึ่งในความก้าวหน้าของโครงการร้อยพลังการศึกษาในการส่งต่อเครื่องมือเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาส และความมุ่งมั่น ทุ่มเท ในการนำกระบวนการอาสาสมัครเข้ามาพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ

คุณก็มีส่วนร่วมได้ด้วยการสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษาผ่านแคมเปญบริจาคต่อเนื่อง แบบรายครั้งและรายเดือน เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในระยะยาว https://donate.tcfe.or.th/donate ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://www.tcfe.or.th/ หรือFacebook /ร้อยพลังการศึกษา