“ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” เฟ้นหา “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 6” ลงสนามขับเคลื่อนการศึกษาคุณภาพ

ใครจะเชื่อว่าคนที่ไม่ได้อยากเป็นครูอย่าง ลูกปลา –นางสาวศศิพร สามนคร ครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4 สอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนวัดตะคร้ำเอน จังหวัดนครสรรค์ โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา วันนี้เธอกลับรักอาชีพครูอย่างสุดหัวใจ

ลูกปลา –นางสาวศศิพร สามนคร ครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4

“วันหนึ่งเข้าไปเจอเฟซบุ๊คของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รู้สึกชอบสโลแกนที่ว่าสักวันหนึ่งเด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตนเอง จากที่เรานิยามความต้องการของตัวเองไม่ได้ ทำให้เรารู้เป้าหมายว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษา” ครูลูกปลากล่าว

จากวันนั้นที่ครูลูกปลาได้เข้าไปสอนนักเรียน วันนี้ความเชื่อของเธอได้รับการรดน้ำให้ผลิบานเต็มที่

บรรยากาศการเรียนการสอนของลูกปลา ครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4

“ตอนแรกมีคำถามในใจว่าจริงเหรอที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ แต่พอได้เข้ามาสอนจริงๆ ก็ได้รู้ว่าบางอย่างเปลี่ยนได้จริงๆ เช่น เราเปลี่ยนห้องเรียนของตัวเองได้ จึงคิดว่าอยากจะเป็นครูจริงๆ เพราะอาชีพครูเป็นงานที่มีคุณค่า” ครูลูกปลา กล่าว

ลูกปลา ครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 4 กำลังสอนวิชาวิทยาศาสตร์

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวจากคนที่อยู่ในฐานะ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่มุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยด้วยการสร้างผู้นำโดยสรรหาคนที่มีความมุ่งมั่นและมีความสามารถด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตเข้าไปเป็นครูสอนในโรงเรียนเป็นเวลา 2 ปี  ซึ่งจะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น

เมื่อการเรียนรู้ของเด็กในศตวรรษที่ 21 ไม่เหมือนเดิม ความท้าทายก็คือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มนุษย์ในอนาคตจำเป็นต้องหาสมดุลในชีวิตของตัวเองให้เจอ คุณภาพของครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากมีความรู้ทางวิชาการแล้วยังต้องมีทักษะและทัศนะที่พึงประสงค์ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Communication) ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล (Critical Thinking) และทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Collaboration) รวมถึงทัศนคติต่อการเรียนรู้ที่ดีที่จะสร้างการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิตและนำทักษะเหล่านี้ถ่ายทอดต่อไปยังเด็กนักเรียน ซึ่ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คัดสรรและฝึกฝนผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาทักษะและทัศนคติด้วยการวัดผลที่เด็กนักเรียนใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทักษะที่จำเป็น และทัศนคติอันพึงประสงค์ รวมถึงการวัดสมรรถภาพของผู้เข้าร่วมโครงการกับ Teach For Thailand Fellowship Framework (FLF)

คนแบบไหนที่จะเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ คุณดุษฎี เตือนอุดมศีล หัวหน้าฝ่ายสรรหาผู้นำการเปลี่ยนแปลง บอกว่า ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในบทบาทผู้นำ  มีการวางแผน บริหารจัดการตนเองและผู้อื่นได้ดี  มีกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และคิดอย่างมีเหตุผล อ่อนน้อมถ่อมตน  ให้เกียรติและเข้าใจผู้อื่น มุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เข้าใจตนเองและมีทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาตนเอง เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย  โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 18,000 บาท

คุณดุษฎี เตือนอุดมศีล หัวหน้าฝ่ายสรรหาผู้นำการเปลี่ยนแปลง

คุณดุษฎี ยังอธิบายว่าเมื่อผ่านการคัดเลือกผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องฝึกอบรมทักษะการสอนอย่างผู้นำ (Teach For Thailand Fellow Leadership Framework) และทักษะอื่นๆ ตามมาตรฐานของคุรุสภา เช่น การวางแผนการสอน การจัดการห้องเรียน และการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากทางโครงการ  องค์กร และมหาวิทยาลัยพันธมิตรเป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ก่อนการสอนจริงในโรงเรียนที่ได้รับมอบหมาย โดยมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำและสนับสนุน พร้อมทำกิจกรรมอบรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นหลังจากมีประสบการณ์การสอนในสถานการณ์จริง ไปจนกว่าจะทำงานสอนเสร็จสิ้นในภาคเรียนที่ 2 ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะมีโอกาสได้นำทักษะความเป็นผู้นำที่ตนเองได้พัฒนาขึ้น ผนวกกับความเข้าใจถึงโรงเรียนและชุมชนร่วมขยายผลการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนของตนเองและชุมชน

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลาและกำลังคนที่มีความสามารถจำนวนมากเข้ามาร่วมกันพัฒนา ที่ผ่านมา ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ดำเนินโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 5 รุ่น มีผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสิ้น 189 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะต่างๆ ประกอบด้วย คณะสังคมสงเคราะห์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  คณะศิลปศาสตร์  คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะจิตวิทยา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ฯลฯ   ขณะที่มีผู้ได้รับประโยชน์ประกอบด้วย โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 64 โรงเรียน นักเรียนจากชั้นเรียน จำนวน 38,100 คน ครูและบุคลากรการศึกษา จำนวน 1,710 คน  ปัจจุบันมีศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง 3 รุ่น ทั้งหมด 125 คน  ได้กระจายไปทำงานยังภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ประกอบด้วยภาคเอกชนและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภาคนโยบาย ภาคนวัตกรรมสังคม และภาคการศึกษา

ล่าสุดโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6 ประจำปี 2561 เปิดรับสมัครรอบที่1 จากทั้งหมด 4 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 18 พฤศจิกายน 2561  มีผู้ลงทะเบียนแสดงความสนใจแล้วกว่า 210 คน และมีผู้ส่งใบสมัครแล้วทั้งหมดจำนวน 35 คน  ข้อมูล ณ วันที่ 9 พศฤจิกายน 2561 เพื่อมาร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าคนในสังคมไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหาการศึกษา

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6 ประจำปี 2561

“ผลตอบรับของโครงการในปีนี้ดีมาก มีผู้ลงทะเบียนแสดงความสนใจและสมัครเข้ามาเยอะกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน ทางโครงการมองว่า เนื่องจากปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับเรื่องของปัญหาการศึกษามากขึ้น ดูได้จากจำนวนองค์กรที่เกี่ยวข้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นและทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ก็ได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพทุกปี จึงทำให้เกิดการบอกต่อ โดยส่วนใหญ่คนที่สนใจสมัครเข้ามาจะรู้จักองค์กรจากคนที่เป็น Ambassador หรือศิษย์เก่าและผลกระทบเชิงบวกของโครงการที่ถูกส่งต่อกันไปในสื่อต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนและสมัครในรอบนี้ไม่ทัน สามารถติดตามรับชมการเปิดรับสมัครในรอบที่ 2-4 ได้ในเพจเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” คุณดุษฎีกล่าว

ทีมสรรหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงวางเป้าหมายในการรับสมัครผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6  จำนวน 60 คน ที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียน โดยจะต้องคุณสมบัติ ดังนี้

  • จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (หากกำลังศึกษาอยู่จะต้องจบการศึกษาก่อนเริ่มฝึกอบรม)
  • มีสัญชาติไทย สามารถทำงานในประเทศไทยได้ตามกฎหมาย
  • ผลการเรียนในระดับปริญญาตรี GPA 2.75 ขึ้นไป
  • ไม่จำกัดอายุ คณะ หรือมหาวิทยาลัย

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาการศึกษาตามแนวทางของโครงการร้อยพลังการศึกษา ปัจจุบันมีครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนของโครงการร้อยพลังการศึกษาแล้วจำนวน 8 โรงเรียน ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์  จังหวัดกาญจนบุรี และกรุงเทพมหานคร  และทำการสอนใน 3 รายวิชา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

“เราเชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์ของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของโครงการร้อยพลังการศึกษาที่ต้องการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยด้วยการสร้างเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับบทบาทครูในโรงเรียนรวมถึงศิษย์เก่าของเราที่ออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม” คุณดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย

คุณก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนการศึกษากับโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.tfaforms.com/4692845  หรือร่วมสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษา บริจาคเงินผ่านแคมเปญ “บริจาคต่อเนื่อง” รายครั้งและรายเดือน รวมถึงบริจาคโอกาสพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในระยะยาว https://donate.tcfe.or.th/donate ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://www.tcfe.or.th/ หรือFacebook /ร้อยพลังการศึกษา