ผู้ให้จากการเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้รับ

‘เอิร์น’ นักเรียนหญิง ชั้น ม.2 ที่คอยไปเรียงถาดอาหารกลางวัน จัดแถวน้องประถมเข้าโต๊ะรับประทานอาหาร  มีเด็กๆ หลายคนชอบเล่นกัน แกล้งกัน จนถาดข้าวหกเลอะเทอะ บางคนทำน้ำหกใส่ข้าว เอิร์นก็จะพาน้องไปเปลี่ยนถาดข้าว พอน้องทานอาหารเสร็จ เอิร์นจะมาช่วยเก็บกวาดทำความสะอาดอาหารที่หกอยู่บนพื้น

สิ่งที่เอิร์นทำอยู่ คือ การตอบแทนโรงเรียนและคุณครูที่อนุญาตให้เธอรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กประถม  ความจริงแล้วที่โรงเรียนมีโครงการอาหารกลางวันฟรีเฉพาะแค่นักเรียนชั้นประถม ส่วนนักเรียนมัธยมจะต้องซื้ออาหารกลางวันเองที่โรงอาหาร แต่เนื่องจากบางวัน เอิร์นแทบจะไม่มีเงินมาโรงเรียนเลย คุณครูจึงอนุญาตให้เอิร์นรับประทานอาหารกลางวันกับน้องๆ ได้

ย้อนไปเมื่อตอนที่เอิร์นอยู่ชั้น ป.6 คุณครูสังเกตว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กที่มีน้ำใจ เวลาที่วัดแถวบ้านมีงานบุญ เอิร์นก็จะไปช่วยล้างจานที่วัดตลอด  เวลามีงานตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งที่โรงเรียน ครูจะถามนักเรียนว่า 

“มีใครอยากนำข้าวสารกลับบ้านไหม”

นักเรียนบางคนก็อายที่จะอุ้มถุงข้าวสารกลับบ้าน แต่ไม่ใช่สำหรับเอิร์น เอิร์นไม่เคยอายที่จะเข้าไปขอถุงข้าวสารกลับบ้าน โดยคุณครูมาทราบภายหลังว่า เอิร์นอาศัยอยู่กับคุณปู่คุณย่า  คุณปู่ที่เคยเป็นเสาหลักของบ้านได้รับอุบัติเหตุขาขาด ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานได้เหมือนเมื่อก่อน  รายรับของครอบครัวจึงมาจากเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ ซึ่งแค่ใช้จ่ายค่ากับข้าวในแต่ละวันก็แทบจะไม่เพียงพอ 

เอิร์นจึงเริ่มทำงานหารายได้เสริม เริ่มจากการรับจ้างถอนผมหงอกให้ผู้ใหญ่แถวบ้าน ได้เงินครั้งละประมาณ 5-10 บาท  ไปรับจ้างเสียบมันสำปะหลัง ตัดอ้อย หักฝักข้าวโพด เก็บถั่วเก็บพริก เก็บหน่อไม้ฝรั่งตามไร่ ได้ชั่วโมงละ 30 บาท ตอนบ่ายก็จะรับจ้างถางหญ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วงานถางหญ้าไม่ค่อยจะมีคนจ้างเด็กเท่าไหร่ เพราะทำงานได้น้อยกว่าแรงงานผู้ใหญ่ 

แม้ว่าเอิร์นจะพยายามทำงานหารายได้เสริม แต่มันก็ไม่ได้เพียงพอที่จะเรียนต่อในชั้นมัธยม ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน  คุณครูจึงพยายามมองหาทุนการศึกษามาช่วยเหลือเอิร์น

จนกระทั่งมาพบกับ ‘ทุนยุวพัฒน์’ ที่เป็นทุนการศึกษาให้เปล่า เป็นทุนต่อเนื่องที่ให้ตั้งแต่ชั้น ม.1 จนถึง ม.6 

คุณครูจึงให้เอิร์นเขียนใบสมัครขอทุนและเขียนเรียงความบรรยายความเป็นอยู่และความจำเป็นในการขอรับทุนการศึกษานี้ โดยที่มีคุณครูคอยช่วยสนับสนุนในเรื่องเอกสารประกอบที่ต้องยื่นขอรับทุนฯ  จนในที่สุด เอิร์นได้รับพิจารณาให้เป็น ‘นักเรียนทุนยุวพัฒน์’

หลังจากได้รับทุนยุวพัฒน์  เอิร์นวางแผนการใช้เงินทุนฯ โดยการฝากบัญชีธนาคารโรงเรียนไว้ เธอไม่ได้เบิกเงินออกมาทั้งหมดในคราวเดียว  ซึ่งคุณครูได้สอนวิธีการวางแผนการเงิน  หากนักเรียนทุนฯ คนใดต้องการเบิกเงินออกมาใช้ ก็จะต้องมาพูดคุยกับคุณครูก่อนว่าเหตุผลในการเบิกเงินคืออะไร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินทุนที่ได้รับมานั้น ถูกนำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และตรงตามวัตถุประสงค์การให้ทุนฯ

ส่วนแรกที่เอิร์นเบิกมาใช้ คือ ค่าเดินทาง ด้วยระยะทางจากบ้านมาโรงเรียนที่ไกลนับ 10 กิโลเมตร ระหว่างสองข้างทางมีแต่ป่าอ้อย มีบ้านเรือนไม่กี่หลัง ถนนเส้นนี้ก็มักจะมีรถสิบล้อแล่นผ่าน ทำให้เอิร์นไม่สามารถเดินมาโรงเรียนได้ จึงจำเป็นต้องนั่งรถรับส่งและจ่ายเงินค่ารถรายเดือน 

เวลาทำงานกลุ่ม เอิร์นต้องหารค่าอุปกรณ์กับเพื่อน ซึ่งก็ต้องใช้เงินหลายบาท  มีอยู่คาบเรียนหนึ่งที่เรียนทำผ้ามัดย้อม เอิร์นต้องไปหาผ้ามาจากบ้าน ซึ่งผ้าที่มีอยู่ก็เป็นผ้าเก่า เวลาทำผ้ามัดย้อม นักเรียนต้องใช้สีในถังเดียวกัน เอิร์นเกรงใจ ไม่อยากให้เพื่อนๆ มองว่าเอาผ้าเก่ามาจุ่มในถังสีเดียวกัน เอิร์นจึงไปหาซื้อผ้าขาวผืนใหม่เพื่อนำมาทำผ้ามัดย้อมกับเพื่อนๆ 

ในคาบเรียนพละ ทางโรงเรียนมีอุปกรณ์กีฬาไม่เพียงพอ เช่น ไม้ปิงปอง ทำให้นักเรียนต้องจัดหาอุปกรณ์กีฬามาเอง เอิร์นก็ใช้เงินทุนฯ ซื้อไม้ปิงปองมาใช้สำหรับการเรียนและสอบ แต่มีพื่อนๆ บางคนที่เขาไม่มีไม้ปิงปองและไม่ได้รับทุนฯ เอิร์นก็จะแบ่งปันให้เพื่อนยืมไม้ของเธอ

เอิร์นไม่ได้นึกถึงแต่ตนเอง แต่เธอยังนึกถึงปู่กับย่าที่บ้าน  เอิร์นเห็นปู่กับย่าทานข้าวกับน้ำพริกผักต้มทุกวัน เอิร์นอยากให้ปู่กับย่าได้กินอาหารดีๆ บ้าง เธอจึงตัดสินใจขอเบิกเงินทุนกับครู เพื่อนำไปซื้อข้าวสารและซื้อกับข้าวดีๆ สักมื้อให้ปู่กับย่าได้ทาน 

คุณลักษณะของเด็กหญิงคนนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ความกตัญญูทั้งต่อปู่ย่า คุณครู และโรงเรียน อีกทั้ง เธอไม่เคยยอมแพ้กับอุปสรรคหรือข้อจำกัดในชีวิตเลย แต่ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นแรงผลักดันเพื่อวันหนึ่งเธอจะได้เป็นในสิ่งที่ฝันและทำประโยชน์เพื่อคนอื่น  

ความฝันของเอิร์น คือ การเป็นวิศวกร เพราะที่หมู่บ้านของเธอ รถบรรทุกมักจะไปเกี่ยวสายไฟทำให้ไฟดับบ่อยๆ เอิร์นจึงคิดว่าถ้าเธอเป็นวิศวกรไฟฟ้า เธอคงช่วยแก้ไขปัญหาให้กับคนในหมู่บ้านได้

แต่ความฝันนั้นอาจจะไม่มีทางเป็นจริงได้เลย  หากเธอไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

“ถ้าไม่มีทุนนี้ หนูคงไม่ได้มาโรงเรียน” 

ทุนการศึกษาที่ได้มากลายเป็นส่วนเติมเต็มให้เด็กๆ ได้ทำตามความฝันของพวกเขา  ยิ่งไปกว่านั้น การให้โอกาสทางการศึกษาเป็นการต่อยอดให้สังคมกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่ 

“เพราะเด็กที่ได้รับโอกาสในวันนี้จะกลับกลายมาเป็นผู้ให้อีกมากมายในวันข้างหน้า”

ขอขอบคุณเรื่องราวจากน้องเอิร์น นักเรียนทุนยุวพัฒน์ และคุณครูพวงพยอม ตาลเหล็ก 

#SchoolToolsxทุนยุวพัฒน์

#ร้อยพลังการศึกษาx@มูลนิธิยุวพัฒน์ (Yuvabadhana Foundation)